กฏ-กติกา กีฬาสนุกเกอร์ของสมาคมกีฬาบิลเลียด และสนุกเกอร์อาชีพโลก WPBSA


หมวดที่ 3 - การเล่น (The Game)

1. คำอธิบาย (Description)

การเล่นสนุกเกอร์ สามารถเล่นตั้งแต่ 2 คนหรือมากกว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบบุคคล หรือเล่นเป็นทีม การเล่นสนุกเกอร์ สามารถสรุปได้ดังนี้

  • ผู้เล่นทุกคน ใช้ลูกสีขาว หรือ “ลูกคิวบอล” ลูกเดียวกันและมี “ลูกสนุกเกอร์” ทั้งหมด 21 ลูก ซึ่งเรียกว่า “ลูกเป้า” - มีลูกแดงจำนวน 15 ลูก มีค่าลูกละ 1 คะแนน และมีลูกสีต่างๆ อีก 6 ลูก โดยเริ่มจาก ลูกสีเหลือง มีค่า 2 คะแนน, ลูกสีเขียว - 3, ลูกสีน้ำตาล - 4, ลูกสีน้ำเงิน - 5, ลูกสีชมพู - 6 และลูกสีดำ มีค่า 7 คะแนน
  • ผู้เล่นผลัดกันทำคะแนน ด้วย “การตบลูก” สีแดง สลับกับลูกสีอย่างละ 1 ลูก จนกว่าลูกสีแดงจะถูกแทงจนหมดโต๊ะ จึงหันมาเริ่มแทงลูกสี โดยเริ่มตั้งแต่ลูกสีที่มีค่าต่ำสุด ไปหาลูกที่มีค่าสูงที่สุด
  • คะแนนที่ผู้เล่นสามารถทำได้ในการแทงแต่ละไม้ จะนำไปรวมกันเป็นคะแนนรวมของ “ผู้แทง”
  • คะแนนที่ถูกปรับจากการลงโทษใน “การทำฟาล์ว” จะนำไปรวมกับคะแนนของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
  • กลยุทธ์ในการเล่นที่สำคัญคือ การที่ผู้เล่นต้องพยายามนำ “ลูกคิวบอล” ไปไว้ในตำแหน่งที่ถูกบังด้วยลูกที่ไม่อยู่ในเที่ยวแทง ซึ่งถือเป็นการ “วางสนุกเกอร์” แก่ผู้เล่นคนต่อไป หากผู้เล่นฝ่ายใด หรือทีมใด มีคะแนนตามคู่แข่งขันอยู่น้อยกว่าคะแนนรวมที่เหลือบนโต๊ะ การ “วางสนุกเกอร์” โดยหวังว่าจะได้คะแนนเพิ่มจาก “การทำฟาล์ว” ของฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญยิ่ง
  • ผู้ที่ได้รับชัยชนะใน “เฟรม” คือผู้เล่น หรือทีมใดที่
    • สามารถทำคะแนนรวมใน “เฟรม” นั้นได้สูงที่สุด
    • เมื่อผู้เล่น หรือทีมตรงข้ามยอมแพ้
    • ได้รับชัยชนะภายใต้กติกาใน หมวดที่ 3 ข้อ 14.3 หรือ หมวดที่ 4 ข้อ 2
  • ผู้ที่ได้รับชัยชนะใน “เกม” คือผู้เล่น หรือทีมใดที่
    • สามารถชนะ “เฟรม” การเล่นได้มากที่สุด หรือ ตามจำนวนที่ตกลงไว้ก่อน ในกติกาการแข่งขัน
    • สามารถทำคะแนนรวมได้สูงสุด เมื่อนำคะแนนที่เกี่ยวข้องมารวมกัน
    • ผู้เล่น หรือทีมได้รับชัยชนะภายใต้กติกาใน หมวดที่ 4 ข้อ 2
  • ผู้ที่ได้รับชัยชนะใน “แมตช์” คือผู้เล่น หรือทีมใดที่สามารถทำจำนวน “เกม” ได้สูงสุด หรือ ทำคะแนนรวมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้สูงสุด

2. ตำแหน่งของลูกต่างๆ (Position of Balls)

  • “ลูกคิวบอล” จะเป็น “ลูกในมือ” เมื่อเริ่มทำการแข่งขันในแต่ละเฟรม และ “ลูกเป้า” ทั้งหลาย จะถูกวางในตำแหน่งต่างๆ ของตนเอง ดังต่อไปนี้
    • ลูกสีแดง ทั้งหมดจะถูกนำไปวางรวมกันเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยลูกบนสุดของสามเหลี่ยม อยู่ในตำแหน่งบนเส้นกลางโต๊ะ เหนือ “จุดปิรามิด” ซึ่งจะต้องเป็นจุดที่อยู่ใกล้ตำแหน่งของลูกสีชมพูมากที่สุด โดยต้องไม่สัมผัสลูกชมพู และฐานของสามเหลี่ยมต้อง ขนาน และใกล้กับชิ่งบนมากที่สุด
    • ลูกสีเหลือง ตั้งอยู่บนตำแหน่งมุมขวาของ “ครึ่งวงกลม”
    • ลูกสีเขียว ตั้งอยู่บนตำแหน่งมุมซ้ายของ “ครึ่งวงกลม”
    • ลูกสีน้ำตาล ตั้งอยู่บนตำแหน่งกึ่งกลางของ “เส้นเมือง”
    • ลูกสีน้ำเงิน ตั้งอยู่บนตำแหน่งกึ่งกลางของโต๊ะ
    • ลูกสีชมพู ตั้งอยู่บนตำแหน่ง “จุดปิรามิด” และ
    • ลูกสีดำ ตั้งอยู่บนตำแหน่ง “จุดสปอต”
  • หลังจากที่ได้เริ่ม “เฟรม” การแข่งขัน “ลูกในขณะเล่น” จะถูกทำความสะอาดได้โดย “ผู้ตัดสิน” เพียงผู้เดียวเท่านั้น ด้วยการแสดงความจำนงอย่างเหมาะสมจาก “ผู้แทง” และ
    • ตำแหน่งของลูก หากไม่ได้ “ผู้ตัดสิน” สามารถใช้อุปกรณ์เพื่อระบุตำแหน่งของลูกมากำหนดไว้ เพื่อนำลูกที่ต้องการขึ้นมาทำความสะอาดได้
    • อุปกรณ์เพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งของลูกดังกล่าว ขณะที่กำลังนำมาใช้เพื่อทำความสะอาดลูกโดย “ผู้ตัดสิน” นั้น จะมีค่าเท่ากับคะแนนของลูกที่ถูกนำขึ้น จนกว่าลูกนั้นจะถูกนำกลับไปวางในตำแหน่งเดิมที่นำขึ้นมา หากผู้เล่นผู้หนึ่งผู้ใด แม้ว่าจะไม่ได้เป็น “ผู้แทง” ไปสัมผัส หรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้เล่นผู้นั้นจะถูกปรับ “ฟาล์ว” และต้องถูกลงโทษตามจำนวนคะแนนของลูกที่ถูกนำขึ้นมาทำความสะอาดนั้น โดยเสียคะแนนดังกล่าวให้กับฝ่ายตรงข้าม และจะไม่มีผลเกี่ยวข้องถึงเที่ยวแทงแต่อย่างใด “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำอุปกรณ์ดังกล่าว หรือลูกที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วนั้น กลับไปตั้งยังตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่ผู้ตัดสินพิจารณาแล้วว่า ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมมากที่สุด ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ที่ใช้กำหนดตำแหน่งนั้นจะถูกแตะต้อง หรือเคลื่อนย้ายไปแล้วก็ตาม

3. เที่ยวแทงของการเล่น (Mode of Play)

ผู้เล่นจะทำการกำหนด “เที่ยวแทงของการเล่น” ด้วยการเสี่ยงทาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ตามข้อตกลง และความเหมาะสม

  • หลังจากที่ได้ตกลงระบุ “เที่ยวแทงของการเล่น” แล้ว จะไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันนั้นจนจบ “เฟรม” นอกเหนือจากผู้เล่นผู้ใดผู้หนึ่ง ถูกบังคับให้แทงซ้ำอีกครั้ง หลังจากการทำ “ฟาล์ว”
  • ผู้เล่น หรือทีมใดที่แทงเปิด “เฟรม” ก่อน ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้าม เป็นผู้แทงเปิดใน “เฟรม” ต่อไป และสลับกันไปเช่นนี้จนจบการแข่งขัน
  • ผู้เล่นคนแรก แทงเปิด “เฟรม” จาก “ลูกในมือ” เฟรมการเล่นจะเริ่มขึ้น เมื่อ “ลูกคิวบอล” ได้ถูกนำไปวางบนโต๊ะ และถูกสัมผัสด้วย หัวคิว ไม่ว่าจะเป็น
    • การแทงโดยถูกต้อง หรือ
    • ในขณะที่ผู้เล่นจรด “ลูกคิวบอล”
  • “การแทง” ที่ไม่ผิดกติกา จะต้องไม่มีการละเมิดกติกาข้อหนึ่งข้อใด ที่ถูกระบุไว้ใน หมวดที่ 3 ข้อ 12
  • “การแทง” ในไม้แรกของผู้เล่นแต่ละครั้ง จะต้องเริ่มจากการแทงลูกสีแดง หรือ “ลูกฟรีบอลที่เลือกแทง” แทนลูกสีแดง เป็นอันดับแรก โดยให้นับลูกสีแดงเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” ทุกครั้ง จนกว่าจะไม่เหลือลูกสีแดงบนโต๊ะ และให้นับคะแนนให้ผู้เล่นตามค่าของลูกสีแดง หรือ “ลูกฟรีบอลที่เลือกแทง” แทนลูกสีแดง ที่ทำได้ในไม้นั้น
    • ในกรณีที่ผู้เล่น แทงลูกสีแดง หรือ “ลูกฟรีบอล” ที่ผู้เล่นเลือกแทงแทนลูกสีแดงลงหลุม ผู้เล่นนั้นสามารถแทงต่อไปได้ และ “ลูกในเที่ยวแทง” ลูกต่อไปคือ ลูกสีต่างๆ ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกแทงได้ตามความต้องการ และหากแทงลูกสีที่เลือกนั้นลงอีก จะต้องนำกลับมาตั้งที่จุดของลูกสีนั้น และนับคะแนนตามค่าของมัน
    • “การทำเบรค” จะต่อเนื่องด้วยการแทงลูกสีแดง และลูกสีสลับกันไปทุกครั้งเมื่อมีการแทงลง จนกว่าลูกสีแดงจะถูกแทงลงจนหมด และผู้เล่นได้แทงลูกสี หลังจากที่ได้แทงลูกสีแดงลูกสุดท้ายบนโต๊ะลงเรียบร้อยแล้ว
    • หลังจากนั้น ลูกสีต่างๆ จึงเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” ต่อไปโดยเรียงลำดับจากค่าของมันตั้งแต่น้อยไปหามาก ตามกฎ-กติการใน หมวดที่ 3 ข้อ 1.1 และเมื่อถูกแทงลงไปแล้ว จะไม่นำกลับมาตั้งอีก นอกเสียจากได้รับการยกเว้นตามกฎ-กติกาใน หมวดที่ 3 ข้อ 4 และ “ผู้แทง” ก็จะต้องแทงลูกสีที่เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” ลูกต่อไป
  • ลูกสีแดง จะไม่นำกลับมาตั้งอีกในกรณีที่ถูกผู้เล่นแทงลงหลุม หรือ “แทงกระโดดออกจากโต๊ะ” โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักความจริงที่ว่า “ผู้แทง” อาจจะได้รับผลประโยชน์จาก “การทำฟาล์ว” ดังกล่าว โดยมีข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในกฎ-กติกา หมวดที่ 3 ข้อ 2.2, 9, 14.5, 14.8, 15
  • “เที่ยวแทง” ของ “ผู้แทง” จะจบลงเมื่อ “ผู้แทง” ผู้นั้นไม่สามารถทำคะแนนต่อไปได้ หรือ “ผู้แทง” ผู้นั้นได้ “ทำฟาล์ว” ขึ้น “ผู้แทง” คนต่อไปจะต้องแทง “ลูกคิวบอล” จากตำแหน่งใดก็ตามที่ “ลูกคิวบอล” ไปหยุดอยู่บนโต๊ะ หรือจากตำแหน่ง “ลูกในมือ” หาก “ลูกคิวบอล” นั้นถูกแทงออกไปจากโต๊ะ

4. การจบเฟรม, เกม หรือ แมตช์ (End of Frame, Game or Match)

  • “เฟรมการเล่น” จะยุติลงทันทีเมื่อมี “การทำคะแนน” หรือ “การทำฟาล์ว” เกิดขึ้น ในขณะที่มีลูกสีดำเหลืออยู่บนโต๊ะเพียงลูกเดียว ยกเว้นในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
    • คะแนนของผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเสมอกัน และ
    • ไม่มีการรวมคะแนนในเฟรมอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง
  • ในกรณีที่ข้อยกเว้นทั้งสองในข้อ i. เกิดขึ้น
    • ต้องนำลูกสีดำกลับมาตั้งที่ “จุดสปอต”
    • ผู้เล่นทั้งสอง เสี่ยงทายว่าผู้ใดจะเป็นผู้ได้เล่นก่อน
    • ผู้ที่ได้เล่นก่อน เล่นลูกจาก “ในมือ”
    • “เฟรมการเล่น” จะสิ้นสุดเมื่อมีการทำคะแนน หรือมี “การทำฟาล์ว” ครั้งต่อไปเกิดขึ้น
  • ในกรณีที่มีการนำเอาคะแนนของเฟรมอื่นๆ มารวมกันเพื่อตัดสินหาผู้ชนะใน “เกม” หรือ “แมตช์” นั้น และคะแนนทั้งสองฝ่ายเกิดมาเสมอกัน หลังจากที่นำคะแนนในเฟรมสุดท้ายมารวมแล้ว ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายที่เล่นในเฟรมสุดท้าย จะต้องเล่นลูกตัดสินเพื่อหาผู้ชนะ โดยใช้กฎ-กติกาที่ระบุไว้ในข้อ 4.2

5. การเล่นลูกในมือ (Playing from In-hand)

การเล่นลูกจากตำแหน่ง “ในมือ” ผู้เล่นจะต้องแทง “ลูกคิวบอล” จากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในบริเวณ “ครึ่งวงกลม” เท่านั้น แต่ผู้เล่นสามารถแทงไปในทิศทางที่ต้องการได้

  • หากผู้เล่นสงสัยว่า “ลูกคิวบอล” ที่ผู้เล่นต้องการแทงนั้น ผู้เล่นได้วางไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ “ผู้ตัดสิน” จะต้องชี้แจงให้ทราบ (เช่น ไม่วางไว้นอกเขต “ครึ่งวงกลม” เป็นต้น)
  • หากหัวคิวของผู้เล่น ไปกระทบ “ลูกคิวบอล” ในขณะที่กำลังจรดคิวอยู่ และ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่าผู้เล่น ยังไม่ได้มีเจตนาที่จะแทงลูกออกไป ให้ถือว่า “ลูกคิวบอล” นั้น ยังไม่ได้เป็น “ลูกในขณะเล่น”

6. การแทงถูกสองลูกพร้อมกัน (Hitting Two Balls Simultaneously)

ลูกสองลูก หากไม่ใช่ลูกสีแดงทั้งสองลูก หรือเป็น “ลูกฟรีบอล” และ “ลูกในเที่ยวแทง” ผู้เล่นจะแทง “ลูกคิวบอล” ไปกระทบลูกทั้งสองนั้นพร้อมๆ กันเป็นอันดับแรกไม่ได้

7. การตั้งลูกสี (Spotting Colors)

ลูกสีลูกใดที่ถูกตบลงหลุม หรือถูกแทง “กระโดดออกจากโต๊ะ” ต้องถูกนำกลับมาตั้งที่จุดก่อนการแทงในไม้ต่อไปจะเริ่มขึ้น จนกว่าจะถูกตบลงหลุมไปตามกฎ-กติกาใน หมวดที่ 3 ข้อ 3.6

  • ผู้เล่นไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของผู้ตัดสิน ในกรณีที่ “ผู้ตัดสิน” ตั้งลูกสีในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง
  • หากลูกสีถูกแทงลงไปแล้ว ตามขั้นตอนของการแทงลูกสีที่ระบุไว้ในกฎ-กติกาใน หมวดที่ 3 ข้อ 3.6 (iii) แต่ “ผู้ตัดสิน” กลับนำมาตั้งใหม่ “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำลูกสีลูกนั้นออกไปทันทีที่พบความผิดพลาด โดยที่ผู้เล่นไม่ต้องถูกลงโทษ และสามารถเล่นต่อไปได้
  • หากผู้เล่นแทงไปยังลูกสี หรือไปกระทบลูกสีที่ตั้งไม่ถูกต้อง ให้ถือว่าเป็นลูกต่อเนื่อง และไม่ผิดกติกาใน “เที่ยวแทง” นั้น ลูกสีลูกใด ที่ไม่ได้ถูกนำกลับมาตั้งที่จุด ให้ “ผู้ตัดสิน” นำกลับมาตั้งเสียให้ถูกต้อง
    • ผู้เล่นไม่ต้องถูกลงโทษ เมื่อมีการพบว่าลูกสีลูกใดลูกหนึ่งหายไป อันเกิดจากการมองข้ามมาก่อนหน้านี้
    • ผู้เล่นจะต้องถูกลงโทษ หากเริ่มเล่น ก่อนที่ “ผู้ตัดสิน” จะทำการตั้งลูกให้เรียบร้อย
  • หากลูกสีที่ต้องนำกลับมาตั้ง ไม่สามารถตั้งในจุดของตนเองได้ เนื่องจากเป็น “จุดไม่ว่าง” จะต้องนำไปตั้งยังจุดที่มีค่าคะแนนสูงที่สุดที่ว่างอยู่
  • หากมีลูกสีที่ต้องนำกลับไปตั้งที่จุดมากกว่าหนึ่งลูกขึ้นไป และจุดต่างๆ ของลูกทุกลูกดังกล่าวไม่ว่าง ให้นำลูกที่มีคะแนนสูงที่สุด ไปตั้งยังจุดของลูกที่มีคะแนนมากที่สุดที่ว่างอยู่ตามลำดับ
  • ถ้าจุดทุกจุดเป็น “จุดไม่ว่าง” จะต้องนำลูกสีไปตั้งไว้ระหว่างจุดของตนเองและชิ่งบน โดยให้ใกล้จุดของตนเองและตำแหน่งของชิ่งบนที่ใกล้ที่สุด ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ในกรณีของลูกสีชมพู และลูกสีดำ ถ้าจุดของลูกสีทุกจุดเป็น “จุดไม่ว่าง” และไม่มีตำแหน่งใดๆ เลยระหว่างจุดของตนเองกับตำแหน่งของชิ่งบนที่ใกล้ที่สุดที่สามารถตั้งได้ ให้นำลูกนั้นไปตั้งในตำแหน่งที่ใกล้จุดของตนเองมากที่สุด และให้อยู่บนเส้นกึ่งกลางโต๊ะ แต่อยู่ใต้จุดของตนเองไปทางชิ่งล่างแทน
  • การตั้งลูกสีทุกลูกในทุกกรณี ลูกสีที่ตั้งจะต้องไม่แตะต้อง หรือเป็น “ลูกติด” กับลูกใดๆ บนโต๊ะทั้งสิ้น
  • การตั้งลูกสี “ผู้ตัดสิน” ต้องตั้งลูกด้วยมือ ลงบนจุดตามที่ได้ระบุไว้ในกฎ-กติกาฉบับนี้ จึงจะเป็นการตั้งลูกสีที่ถูกต้องและสมบูรณ์

8. ลูกติด (Touching Ball)

  • เมื่อ “ลูกคิวบอล” ถูกแทงมาหยุด แล้วอยู่ในตำแหน่งที่แตะต้อง หรือสัมผัสกับลูกหนึ่งลูกใดที่เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” หรืออาจเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” “ผู้ตัดสิน” จะขานเป็น “ลูกติด” และต้องแจ้งให้ทราบว่า ลูกใดบ้างเป็น “ลูกติด” กับ “ลูกคิวบอล”
  • เมื่อมีการขานจาก “ผู้ตัดสิน” ว่าเป็น “ลูกติด” “ผู้แทง” จะต้องแทงไปในทิศทางที่ไม่ทำให้ลูกที่ติดกับ “ลูกคิวบอล” อยู่นั้น มีการเคลื่อนไหว เนื่องจากจะถือว่าเป็น “การแทงไม้ยาว”
  • เมื่อ “ผู้แทง” ไม่ได้ทำให้ “ลูกเป้า” มีการเคลื่อนไหว “ผู้แทง” จะไม่ถูกลงโทษแต่อย่างใด ในกรณีที่
    • ลูกนั้นเป็น “ลูกในเที่ยวแทง”
    • ลูกนั้น อาจเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” และผู้เล่นได้ระบุให้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” หรือ
    • ลูกนั้น อาจเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” และผู้เล่นได้ระบุให้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” และผู้เล่นแทงไปถูกลูกอื่น ซึ่งอาจเป็น “ลูกในเที่ยวแทง” ได้เช่นกัน
  • หาก “ลูกคิวบอล” มาหยุดแล้วเป็น “ลูกติด” หรือ เกือบติด กับลูกที่ไม่ได้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” หากผู้เล่นสอบถาม “ผู้ตัดสิน” จึงจะชี้แจงให้ทราบว่า เป็น “ลูกติด” หรือไม่ และ “ผู้แทง” จะต้องแทงออกไปในทิศทางที่ไม่ทำให้ลูกนั้นมีการเคลื่อนไหว และต้องแทงให้ถูก “ลูกในเที่ยวแทง” ก่อนลูกอื่นอีกด้วย
  • เมื่อใดที่ “ลูกคิวบอล” มาอยู่ติดทั้ง “ลูกในเที่ยวแทง” และลูกที่ไม่อยู่ในเที่ยวแทงด้วยกัน “ผู้ตัดสิน” จะแจ้งให้ทราบเฉพาะ ลูกที่ติดกับ “ลูกคิวบอล” ที่เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” เท่านั้น หาก “ผู้แทง” ประสงค์จะทราบว่า “ลูกคิวบอล” เป็น “ลูกติด” กับลูกที่ไม่ได้อยู่ในเที่ยวแทงด้วยหรือไม่ “ผู้แทง” สามารถขอให้ “ผู้ตัดสิน” ชี้แจงให้ทราบได้
  • หากผู้ตัดสินเห็นว่า การเคลื่อนไหวใดๆ ของ “ลูกติด” ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ “ผู้แทง” แทงออกไป มิได้เกิดจากการแทงในไม้นั้น “ผู้ตัดสิน” จะไม่ขานเป็น “ลูกฟาล์ว”
  • หาก “ลูกเป้า” ที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และ “ผู้ตัดสิน” ได้สรุปแล้วว่าไม่ได้เป็น “ลูกติด” กับ “ลูกคิวบอล” แต่ต่อมาได้กลายเป็น “ลูกติด” ขึ้นก่อนที่ผู้แทง จะแทงในไม้ต่อไป “ผู้ตัดสิน” จะนำกลับไปตั้งให้เป็น “ลูกไม่ติด” ในตำแหน่งที่ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่าถูกต้องต่อไป และในกรณีกลับกัน หากมีกรณี “ลูกติด” ซึ่ง “ผู้ตัดสิน” ได้ขานว่าเป็น “ลูกติด” ไปแล้ว และมาเห็นอีกครั้ง ก่อนผู้เล่นจะแทงออกไปว่า กลายเป็น “ลูกไม่ติด” ก็ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกกลับมาตั้งใหม่จนกว่าจะพอใจเช่นกัน

9. ลูกที่อยู่ปากหลุม (Ball on Edge of Pocket)

  • หากมี “ลูกที่อยู่ปากหลุม” ลูกใด ตกลงไปในหลุมโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแทง หรือถูกกระทบโดยลูกอื่น “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกดังกล่าวกลับมาตั้งในตำแหน่งเดิมตรงปากหลุม และ “ผู้แทง” จะยังคงได้คะแนน ในไม้ที่กำลังแทงอยู่นั้น โดยไม่มีผลเกี่ยวข้องกับลูกที่ตกลงไปทั้งสิ้น
  • หากลูกดังกล่าว อาจถูกกระทบโดยลูกหนึ่งลูกใดที่เกี่ยวข้องกับการแทงในไม้นั้นๆ
    • หากไม่มีการกระทำใด ที่ไม่เป็นการผิดกฎ-กติกาที่ระบุไว้ ลูกทุกลูกที่เกี่ยวข้อง จะถูกนำกลับไปตั้งใหม่ และให้ผู้เล่นผู้นั้นแทงไม้นั้นใหม่อีกครั้ง หรืออาจจะเลือกเล่นลูกอื่นตามที่ผู้เล่นต้องการได้
    • การมี “การทำฟาล์ว” เกิดขึ้น ผู้เล่นจะถูกปรับแต้มตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลูกทุกลูกจะถูกนำกลับไปตั้งจุด และผู้เล่นคนต่อไปจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกติกา หลังเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้น
  • หากลูกดังกล่าว ค้างอยู่ปากหลุมชั่วระยะหนึ่ง แล้วตกลงหลุมไป “ผู้ตัดสิน” จะนับว่าเป็นลูกที่ต่อเนื่องจากการแทง และจะไม่ถูกนำกลับมาตั้งใหม่ที่ปากหลุม

10. ลูกสนุกเกอร์หลังการทำฟาล์ว (Snookered After a Foul)

หลัง “การทำฟาล์ว” หาก “ลูกคิวบอล” มาอยู่ในตำแหน่งที่เป็น “ลูกสนุกเกอร์” “ผู้ตัดสิน” จะขานให้ผู้เล่นคนต่อไป ได้ “ลูกที่เลือกแทง” (Free Ball) (ดูหมวดที่ 2 ข้อ 16)

  • หากผู้เล่นคนต่อไป เลือกที่จะแทงในไม้นั้น
    • ผู้เล่นผู้นั้นสามารถเลือกลูกใดก็ได้ ให้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” และ
    • ลูกที่ถูกเลือกให้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” จะมีค่าและคะแนน เท่ากับ “ลูกเป้า” ทุกประการ เว้นเสียแต่ว่า จะต้องนำกลับมาตั้งที่จุดของตน หลังจากถูกผู้เล่นแทงลงหลุมไป
  • ผู้ตัดสินจะขานเป็น “ลูกฟาล์ว” ในกรณีที่
    • ผู้เล่นแทงไม่ถูก “ลูกที่เลือกแทง” หรือถูกพร้อมกับลูกที่เป็น “ลูกเป้า” ในเวลาเดียวกันทั้งสองลูก หรือ
    • เป็น “การวางสนุกเกอร์” ไม่ว่าจะเป็นการวาง ลูกสีแดง ทั้งหมด หรือเป็นการวาง “ลูกเป้า” หรือแม้แต่ “ลูกที่เลือกแทง” ที่ถูกกำหนดให้เป็น “ลูกในเที่ยวแทง” เว้นเสียแต่ว่าจะเหลือลูกบนโต๊ะเพียงสองลูก คือลูกสีชมพู และลูกสีดำเท่านั้น
  • หากผู้เล่น แทงลูกที่เป็น “ลูกที่เลือกแทง” ลงหลุมไป “ผู้ตัดสิน” จะนำกลับมาตั้งที่จุดของลูกนั้นๆ และผู้เล่น จะได้คะแนนเท่ากับลูกที่เป็น “ลูกเป้า” เท่านั้น
  • หากผู้เล่น ทำให้ลูกที่เป็น “ลูกเป้า” ลงหลุมไป หลังจากที่แทง “ลูกคิวบอล” มากระทบ “ลูกที่เลือกแทง” ก่อน หรือกระทบพร้อมๆ กับ “ลูกเป้า” ลูกที่ผู้เล่นจะได้คะแนนคือ “ลูกเป้า” และจะไม่ถูกนำกลับมาตั้งอีก
  • หากทั้ง “ลูกเป้า” และ “ลูกที่เลือกแทง” ลงหลุมไปทั้งสองลูก ผู้เล่นจะได้คะแนนเฉพาะ “ลูกเป้า” เท่านั้น เว้นเสียแต่ว่า “ลูกเป้า” นั้นเป็นลูกสีแดง “ผู้แทง” จึงจะได้คะแนนทั้งสองลูก และ “ลูกที่เลือกแทง” จะเป็นลูกเดียวเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาตั้งใหม่
  • หากผู้ที่ทำฟาล์ว ถูกกำหนดให้เป็น “ผู้แทง” ในไม้ต่อไป การได้รับสิทธิ์ให้ได้ “ลูกที่เลือกแทง” หรือที่เรียกว่า “ลูกฟรีบอล” เป็นอันถูกยกเลิกไป

11. การทำฟาล์ว (Fouls)

หากเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้น “ผู้ตัดสิน” จะต้องขานว่าเป้น “ลูกฟาล์ว” ทันที

  • หาก “ผู้แทง” ยังมิได้แทงลูกออกไป ให้ถือว่า “เที่ยวแทง” นั้น เป็นอันสิ้นสุดลง และ “ผู้ตัดสิน” จะประกาศว่า เขาจะถูกปรับโทษที่ “กระทำฟาล์ว” นั้นเป็นคะแนนเท่าใด
  • หาก “ผู้แทง” ได้แทงลูกออกไปแล้ว “ผู้ตัดสิน” จะต้องรอให้ลูกทุกลูกใน “เที่ยวแทง” นั้นหยุดนิ่งลงเสียก่อน จึงจะประกาศจำนวนคะแนนที่ “ผู้แทง” ต้องถูกปรับ
  • เมื่อเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้น แล้ว “ผู้ตัดสิน” มิได้ขานว่าเป็น “ลูกฟาล์ว” และผู้เล่นฝั่งตรงข้าม มิได้ทำการประท้วงก่อนการแทงในไม้ต่อไป ให้ถือว่าผู้ได้ประโยชน์จากการทำฟาล์วนั้นสละสิทธิ์อันพึงได้รับ
  • ลูกสีลูกใด ที่ถูกตั้งผิดตำแหน่ง ให้คงอยู่ในตำแหน่งที่ผิดนั้นต่อไป โดยไม่ต้องนำกลับมาตั้งให้ถูกต้อง เว้นเสียแต่ว่า เป็นลูกที่ออกจากโต๊ะ จึงจะนำกลับมาตั้งให้ถูกต้องได้ต่อไป
  • ผู้เล่น จะได้คะแนนทุกคะแนน ที่เขาสามารถทำได้ในไม้นั้นก่อนเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้น แต่ผู้เล่น จะไม่ได้รับคะแนนที่ทำได้ในไม้ที่เกิด “การทำฟาล์ว”
  • การแทงในไม้ต่อไป จะแทงจากตำแหน่งที่ “ลูกคิวบอล” มาหยุดอยู่บนโต๊ะ หรือ หาก “ลูกคิวบอล” ไม่ได้หยุดบนโต๊ะ ก็ให้เล่นจาก “ลูกในมือ”
  • หากเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง ในไม้เดียวกัน “ผู้ตัดสิน” จะถือเอา “การทำฟาล์ว” ที่มีค่าเกี่ยวข้องที่สูงที่สุดในไม้นั้น เป็นค่าที่ปรับคะแนนจากผู้กระทำผิด
  • ผู้เล่นที่เป็นผู้แทงฟาล์ว
    • จะถูกปรับคะแนน ตามที่ได้ระบุไว้ใน กฎ-กติกา ข้อ 12 ต่อไปนี้ และ
    • จะต้องเป็นผู้ที่เล่นในไม้ต่อไป หากเป็นความประสงค์ของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม

12. การปรับคะแนนในการทำฟาล์ว (Penalties)

การฟาล์วทุกชนิด “ผู้ตัดสิน” จะปรับคะแนนผู้ทำฟาล์ว 4 คะแนน นอกเหนือจากจะมี “การทำฟาล์ว” ที่มีการเกี่ยวข้องกับลูกที่มีค่าสูงกว่า 4 คะแนน ตามรายละเอียดต่อไปนี้

การปรับคะแนนในกรณีต่างๆ มีดังนี้

  • ปรับคะแนนตามค่าของ “ลูกในเที่ยวแทง” โดย
    • การแทงถูก “ลูกคิวบอล” ติดต่อกันมากกว่าหนึ่งครั้ง
    • การแทงในขณะที่เท้าทั้งสองข้างพ้นจากพื้น
    • การเล่นผิดเที่ยวแทง
    • การเล่น “ลูกในมือ” อย่างไม่ถูกต้อง รวมทั้งในขณะที่เปิด “เฟรม”
    • การแทงโดย “ลูกคิวบอล” ไม่กระทบ “ลูกเป้า” เป็นลูกแรก
    • การแทงโดย “ลูกคิวบอล” พลาดไปลงหลุม
    • “การวางสนุกเกอร์” หลังลูกที่เป็น “ลูกฟรีบอลที่เลือกแทง”
    • การแทง “ลูกกระโดด”
    • การเล่นโดยใช้ไม้คิวที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ หรือ
    • การปรึกษาเพื่อนร่วมทีม ตามกฎข้อบังคับใน หมวดที่ 3 ข้อ 17.5
  • ปรับคะแนนตามค่าของ “ลูกเป้า” หรือลูกที่เกี่ยวข้องลูกใดก็ตามที่มีค่าคะแนนสูงกว่า โดย
    • การแทงในขณะที่ยังมีลูกหนึ่งลูกใดเคลื่อนไหว
    • การแทงในขณะที่ “ผู้ตัดสิน” ยังตั้งลูกสีไม่เรียบร้อย
    • การแทงใดๆ ที่ทำให้ลูกที่ไม่ใช่ “ลูกเป้า” ลงหลุม
    • การแทงให้ “ลูกคิวบอล” ไปกระทบลูกใดลูกหนึ่งก่อนกระทบลูกเป้า
    • “การแทงไม้ยาว”
    • สัมผัส หรือกระทบ “ลูกในขณะเล่น” นอกเหนือจาก “ลูกคิวบอล” ด้วยหัวคิว ในขณะที่กำลังแทงลูก หรือ
    • แทงลูกกระโดด “ออกจากโตีะ”
  • ปรับคะแนนตามค่าของ “ลูกเป้า” หรือ ค่าคะแนนที่สูงกว่าของลูกทั้งสองที่เกี่ยวข้องในขณะที่ “ลูกคิวบอล” แทงไปกระทบพร้อมๆ กัน นอกจากในกรณีที่ลูกทั้งสอง เป็นลูกสีแดงทั้งสองลูก หรือ เป็น “ลูกฟรีบอลที่เลือกแทง” และ “ลูกเป้า”
  • ปรับคะแนน 7 คะแนน ในกรณีที่ “ผู้แทง”
    • ใช้ลูกที่อยู่นอกโต๊ะเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
    • ใช้วัสดุบางอย่างเพื่อวัดจุด หรือระยะต่างๆ
    • แทงลูกสีแดง ติดต่อกันสองครั้ง หรือ แทง “ลูกฟรีบอล” ต่อจากลูกสีแดงติดต่อกัน
    • ใช้ลูกสีหนึ่งสีใด แทน “ลูกคิวบอล” ในการแทงหลัง “เฟรมการเล่น” เริ่มขึ้น
    • ไม่แจ้งให้ “ผู้ตัดสิน” ทราบว่า ต้องการเลือกลูกใดเป็น “ลูกเป้า” เมื่อถูกสอบถาม หรือ
    • หลังจาก “ผู้แทง” ตบลูกสีแดง หรือ “ลูกฟรีบอลที่เลือกแทง” แทนลูกสีแดง แล้วไป “ทำฟาล์ว” ก่อนที่จะระบุลูกสีที่จะเล่นต่อไป

13. การให้แทงอีกครั้ง (Play Again)

เมื่อใดที่ “ผู้เล่น” สละสิทธิ์ในเที่ยวแทง โดยให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อไปหลังจากกระทำฟาล์วเกิดขึ้น หรือการขอให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกกลับไปตั้งใหม่ ในกรณีที่เกิดการ “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” “ผู้เล่น” จะเปลี่ยนใจเรียกสิทธิ์นั้นกลับคืนมาไม่ได้ “ผู้เล่น” ที่จะต้องกลับมาเล่นต่อไป มีสิทธิ์ที่จะ

  • เปลี่ยนการตัดสินใจ ใน
    • การเลือกวิธีที่จะเล่น และ
    • การเลือกลูกที่จะแทง
  • ทำคะแนนจากลูกที่สามารถตบลูกไปจากตำแหน่งนั้นได้

14. การขานฟาล์ว แอนด์ อะ มิส (Foul and a Miss)

“ผู้แทง” จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุด ในการแทงให้ถูก “ลูกเป้า” หาก “ผู้ตัดสิน” พิจารณาแล้วว่า “ผู้แทง” ยังมิได้ใช้ความพยายามที่ดีพอ “ผู้ตัดสิน” จะขานให้เป็น “การฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” เว้นแต่ว่ามีลูกสีดำเหลือบนโต๊ะเพียงลูกเดียวเท่านั้น หรือ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า เป็นลูกที่ไม่มีโอกาสแทงให้ถูก “ลูกเป้า” ได้ ซึ่งในกรณีนี้ “ผู้แทง” จะต้องแสดงเจตนาที่จะแทงให้ถูก “ลูกเป้า” ด้วยการแทง “ลูกคิวบอล” ไปในทิศทางไม่ว่า “โดยทางตรง” หรือ “โดยทางอ้อม” ยัง “ลูกเป้า” ด้วยพละกำลังที่แรงพอสมควร จนเป็นที่พอใจของ “ผู้ตัดสิน”

  • หลังจากที่ “ผู้ตัดสิน” ขานให้เป็น “การฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” ผู้เล่นคนต่อไป สามารถระบุให้ผู้ทำฟาล์ว “แทงอีกครั้ง” จากตำแหน่งที่ลูกไปหยุด หรือให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกที่เกี่ยวข้องในเที่ยวแทงนั้น กลับไปตั้งยังตำแหน่งเดิม ก่อนเกิด “การทำฟาล์ว” ซึ่งในกรณีนี้ “ลูกเป้า” จะยังคงเป็นลูกเดิมก่อนการแทงในไม้ที่มี “การทำฟาล์ว” เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็น
    • ลูกสีแดงลูกใดก็ตาม ในขณะที่ลูกสีแดงเป็น “ลูกเป้า”
    • ลูกสีลูกใดก็ตาม หลังจากที่ไม่มีลูกสีแดงเหลือบนโต๊ะ หรือ
    • ลูกสีลูกใดก็ตามที่ “ผู้แทง” ระบุให้เป็น “ลูกเป้า” หลังจากแทงลูกสีแดงลงหลุมแล้ว
  • หาก “ผู้เล่น” ไม่สามารถแทง “ลูกเป้า” ในทางตรง จาก “ลูกคิวบอล” ไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของ “ลูกเป้า” ให้โดนได้ “ผู้ตัดสิน” จะขานว่าเป็นการทำ “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” นอกจาก
    • แต้มบนโต๊ะ มีไม่พอต่อความแตกต่างของคะแนนของ “ผู้เล่น” ก่อนหรือหลังจากการฟาล์วนั้นเกิดขึ้น
    • แต้มบนโต๊ะก่อนหรือหลังจากการแทงในไม้นั้น มีจำนวนเท่ากันกับแต้มที่เหลือบนโต๊ะ โดยไม่รวมกรณีการตั้งดำอีกครั้งหนึ่ง และ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า การแทงมิสนั้น มิได้เกิดขึ้นด้วยเจตนา
  • หลังจากขาน “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” เกิดขึ้นภายใต้ข้อ 2 ที่ระบุมาข้างต้น ในขณะที่มีแนวทางเป็นเส้นตรงจาก “ลูกคิวบอล” ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกที่เป็น “ลูกเป้า” หรืออาจเป็น “ลูกเป้า” ซึ่งเป็นการเห็นเต็มใบ (ในกรณีลูกสีแดงเกินกว่าหนึ่งลูกติดกัน จะต้องวัดให้เท่าเส้นผ่าศูนย์กลางจากลูกสีแดงที่มิได้ถูกบังจากลูกสีลูกอื่น) มีผลให้
    • หากยังคงเป็นการแทงพลาด “ลูกเป้า” อีกจากตำแหน่งเดิมที่นำกลับไปตั้ง “ผู้ตัดสิน” จะขานเป็น “การฟาล์ว และมิส” โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลต่างของคะแนน และ
    • หากผู้เล่นยังคงผิดจากตำแหน่งเดิมติดต่อกัน “ผู้ตัดสิน” จะต้องเตือนให้ผู้เล่นทราบว่า หากแทงผิดเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน ผู้เล่นผู้นั้นจะถูกปรับแพ้ใน “เฟรมการเล่น” นั้นทันที
  • หลังจากที่นำ “ลูกคิวบอล” กลับมาตั้งใหม่ภายใต้กติกาข้อนี้แล้ว แต่ “ผู้เล่น” ได้มีการทำฟาล์วขึ้น ก่อนที่จะกลับมาแทงใหม่ “ผู้ตัดสิน” จะไม่ขานการฟาล์วในลักษณะนี้ ว่าเป็นการทำ “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” หากยังไม่มีการแทงเกิดขึ้น ในกรณีนี้ “ผู้ตัดสิน” จะปรับแต้ม “ผู้เล่น” ตามลักษณะของการทำฟาล์วนั้น ๆ และ “ลูกเป้า” ก็ยังคงเป็นลูกเดิมก่อนการทำฟาล์วนั้น ๆ จะเกิดขึ้น หมายถึง
    • ลูกแดงใด ๆ ในขณะที่ลูกในเที่ยวแทงเป็น ลูกแดง
    • “ลูกเป้า” เป็นลูกสี ในขณะที่ไม่มีลูกแดงเหลือบนโต๊ะแล้ว หรือ
    • ลูกสีที่ “ผู้เล่น” เลือกเล่น หลังจากที่ได้ตบลูกแดงลงไปแล้ว
    • “ผู้เล่น” คนต่อไปเลือกที่จะเล่นเอง หรือ ให้ “ผู้ทำฟาล์ว” เล่นต่อจากตำแหน่งที่ลูกยืนอยู่ หรือ
    • “ผู้เล่น” คนต่อไป ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกที่เคลื่อนย้ายในระหว่างการทำฟาล์วทั้งหมด กลับไปตั้งในตำแหน่งเดิม แล้วให้ “ผู้ทำฟาล์ว” เล่นต่อจากตำแหน่งเดิมนั้น และ
    • หากสถานการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในระหว่างการทำ “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” ที่ต่อเนื่องกันอยู่หลายครั้ง “ผู้ตัดสิน” มีสิทธิ์ตักเตือน “ผู้เล่น” ที่เจตนาทำฟาล์วนั้น ๆ ว่าอาจจะถูกปรับให้แพ้ในเฟรมนั้นได้
  • การขาน “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” ให้อยู่ในดุลยพินิจของ “ผู้ตัดสิน” ยกเว้น ก่อน หรือ หลังการทำฟาล์วนั้น แต้มบนโต๊ะไม่รวมการนำดำกลับไปตั้งใหม่ มีจำนวนเท่ากับผลต่างของคะแนนของคู่แข่งขันพอดี
  • หลังจากการขาน “ฟาล์ว แอนด์ อะ มิส” และหลังจาก “ผู้ตัดสิน” นำลูกกลับไปตั้งยังตำแหน่งเดิมก่อน “การทำฟาล์ว” แล้ว ลูกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องนำกลับไปตั้งในตำแหน่งเดิม นอกจาก “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามอาจมีผลได้เปรียบจากการเคลื่อนย้ายดังกล่าว “ผู้ตัดสิน” จึงจะนำลูกที่เกี่ยวข้องนั้น กลับไปตั้งในตำแหน่งเดิมจนเห็นสมควร และไม่ว่ากรณีใด หากมีลูกสีที่ถูกแทงออกไปจากโต๊ะอย่างไม่ถูกต้องตามกติกา “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำกลับมาตั้งใหม่ให้ถูกต้องอีกด้วย
  • “ผู้ตัดสิน” ต้องให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ตรวจสอบตำแหน่งที่ตนได้นำลูกที่เกี่ยวข้องกลับไปตั้งในตำแหน่งเดิม ก่อนการแทงในไม้ต่อไป ซึ่งหากยังมีข้อพิพาทให้ “ผู้ตัดสิน” เป็นผู้ชี้ขาดได้ทันที และให้คำตัดสินถือเป็นอันสิ้นสุด
  • ในขณะที่เกิดการโต้แย้งถึงตำแหน่งดังกล่าว หากผู้เล่นผู้ใดไปแตะต้อง หรือสัมผัส “ลูกในขณะเล่น” “ผู้ตัดสิน” จะขานเป็น “การทำฟาล์ว” และปรับคะแนนผู้นั้นเช่นเดียวกับผู้เล่นนั้นเป็น “ผู้แทง” โดยไม่มีผลต่อเที่ยวแทงแต่อย่างใด ลูกที่ถูกสัมผัส “ผู้ตัดสิน” จะนำกลับไปตั้งในตำแหน่งที่ “ผู้ตัดสิน” เห็นสมควร ถึงแม้ว่า ลูกดังกล่าวนั้นจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม
  • ผู้เล่นในเที่ยวแทงต่อไป อาจสอบถามต่อ “ผู้ตัดสิน” ว่า “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกเคลื่อนไหว กลับไปตั้งในตำแหน่งเดิมทั้งหมดหรือไม่ ในกรณีที่เขาถูกระบุให้ “แทงอีกครั้ง” จากการนำลูกกลับไปตั้งในตำแหน่งเดิม หลังเกิด “การทำฟาล์ว” ซึ่งผู้ตัดสินจะต้องแจ้งให้ทราบ

15. ลูกที่ถูกเคลื่อนย้าย โดยไม่เกิดจากการกระทำของผู้เล่น (Ball Moved by Other than Striker)

หากลูกที่กำลังเคลื่อนไหว หรือหยุดอยู่กับที่ ถูกกระทบหรือสัมผัสโดยมิใช่การกระทำของผู้เล่น “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกดังกล่าว ไปตั้งยังตำแหน่งที่เห็นสมควรว่าลูกนั้นๆ ควรไปหยุดหรืออยู่ยังตำแหน่งใด โดยไม่มีการปรับคะแนน

  • กติกาข้อนี้ หมายถึงกรณีที่มีเหตุการณ์ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด นอกเหนือจาก เพื่อนร่วมทีมของ “ผู้แทง” เป็นต้นเหตุให้ “ผู้แทง” เคลื่อนย้ายลูกดังกล่าว
  • ผู้เล่น จะไม่ถูกปรับคะแนนแต่อย่างใด หากการเคลื่อนย้ายดังกล่าว เป็นการกระทำของ “ผู้ตัดสิน”

16. กรณีจุดอับ (Stalemate)

หาก “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า เกิด “กรณีจุดอับ” ขึ้น “ผู้ตัดสิน” จะเสนอให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเริ่มเล่นเฟรมนั้นใหม่ หากมีผู้เล่นผู้ใดคัดค้าน “ผู้ตัดสิน” จะอนุญาตให้ “เฟรมการเล่น” ดำเนินต่อไป โดยมีข้อแม้ว่า “กรณีจุดอับ” ดังกล่าว จะต้องเปลี่ยนสถานการณ์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปจะระบุให้ไม่เกินการเล่นสามครั้ง จากผู้เล่นแต่ละฝ่าย แต่ให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของ “ผู้ตัดสิน” หากสถานการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลาที่กำหนด “ผู้ตัดสิน” สามารถยุติการเล่น พร้อมทั้งยกเลิกคะแนนในเฟรมนั้น และตั้งลูกเพื่อให้ผู้เล่นเริ่มเล่นในเฟรมนั้นใหม่ต่อไป และ

  • ผู้เล่นคนเดิมที่เปิดเฟรมในเฟรมนั้น ยังคงเป็นผู้เปิดในเฟรมใหม่
  • ลำดับของเที่ยวแทง ยังคงเป็นเช่นเฟรมเดิมทุกประการ

17. การเล่นสี่คน (Four-handed Snooker)

  • ในการเล่นสี่คน หรือการเล่นประเภทคู่ ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเปิด “เฟรมการเล่น” และผู้เล่นสามารถกำหนดลำดับในเที่ยวแทงของตนได้ในขณะที่เริ่ม “เฟรมการเล่น” และต้องคงสภาพลำดับของเที่ยวแทงนั้นไปตลอดทั้งเฟรม
  • ผู้เล่น สามารถเปลี่ยนแปลงลำดับของเที่ยวแทงได้ เมื่อเริ่มการเล่นในเฟรมใหม่
  • หากเกิด “การทำฟาล์ว” ขึ้น และผู้เล่นถูกระบุให้ “แทงอีกครั้ง” ผู้เล่นที่ทำฟาล์ว จะต้องเป็นผู้แทงในไม้ต่อไป ถึงแม้ว่า การฟาล์วนั้นจะเป็นการฟาล์วด้วยการเล่นผิดลำดับของเที่ยวแทง และยังให้คงลำดับเดิมที่เล่นไว้เมื่อเปิดเฟรม ถึงแม้ว่าจะทำให้เพื่อนร่วมทีมของผู้ทำฟาล์ว จะต้องสูญเสียเที่ยวแทงไปหนึ่งรอบก็ตาม
  • หากเกิดการเสมอกันขึ้นเมื่อจบเฟรม ให้นำกฎ-กติกาใน หมวดที่ 3 ข้อ 4 มาใช้ หากต้องนำลูกสีดำกลับมาตั้งที่จุดอีกครั้ง ผู้เล่นฝ่ายที่เปิดเฟรมมีสิทธิ์เลือกว่าใครจะเป็นผู้แทงในไม้แรกก่อน หลังจากนั้น ให้คงตามลำดับของเที่ยวแทงในเฟรมนั้นๆ ไปจนจบ
  • ผู้เล่นสามารถปรึกษากันได้ในระหว่าง “เฟรมการเล่น” แต่ไม่สามารถทำได้
    • ในขณะที่ผู้เล่นคนหนึ่ง กำลังอยู่ในเที่ยวแทงที่โต๊ะ หรือ
    • หลังจากที่ผู้เล่นเริ่มแทงในไม้แรกไปแล้ว จนกว่าจะแทงจบในไม้นั้น

18. การใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ (Use of Ancillary Equipment)

“ผู้แทง” จะต้องรับผิดชอบในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้บนโต๊ะ รวมทั้งการนำออกไปจากโต๊ะด้วย

  • “ผู้แทง” จะต้องรับผิดชอบการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการใช้ เรสต์ และ ด้ามต่อต่างๆ บนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่นำมาใช้ หรือ ขอยืมมาจากที่อื่น (นอกจากนำมาจากผู้ตัดสิน) และต้องถูกปรับคะแนน หากมี “การทำฟาล์ว” เกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว
  • ผู้เล่น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความบกพร่องของอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้ที่โต๊ะ โดยเป็นอุปกรณ์ปรกติของโต๊ะแข่งขัน หรือที่นำมาโดย “ผู้ตัดสิน” หากอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุด และทำให้ “ผู้แทง” อาจไปสัมผัสกับลูกใดลูกหนึ่งบนโต๊ะ หรือหลายๆ ลูกได้ “ผู้ตัดสิน” จะไม่ขานเป็น “การทำฟาล์ว” และหากจำเป็น ก็จะต้องนำลูกต่างๆ เหล่านั้นกลับไปตั้งตามกฎ-กติกาใน ข้อ 15 ข้างต้นนี้ และหาก “ผู้แทง” กำลังอยู่ระหว่างการทำคะแนน “ผู้แทง” จะสามารถแทงต่อไปได้ โดยไม่ถูกขานเป็น “การทำฟาล์ว”

19. ความหมายของกฎ-กติกา (Interpretation)

  • จากกฎ-กติกา และคำนิยามทั้งหมดนี้ สามารถใช้ได้กับการแข่งขันทั้งประเภทชาย และ หญิง
  • สถานการณ์ต่างๆ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน ในกรณีที่กฎ-กติกาอาจไม่เหมาะในการนำมาใช้ กับผู้ที่มีความจำกัดทางด้านสรีระ ยกตัวอย่างเช่น
    • หมวดที่ 3 ข้อ 12.1 (i) ไม่สามารถใช้ได้กับผู้เล่นที่ต้องนั่งรถเข็น และ
    • ผู้เล่น ที่ตาบอดสี สามารถสอบถามสีของลูกจาก “ผู้ตัดสิน” ได้
  • สำหรับการเล่นเพื่อสันทนาการ ซึ่งไม่มี “ผู้ตัดสิน” ผู้เล่นฝ่าย หรือ ทีมตรงข้าม สามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้ตัดสิน” ตามกฎ-กติกาที่ระบุมาในฉบับนี้ได้