สนุกเกอร์ให้ทั้งคุณและโทษ

7 ต.ค. 58

เรื่องนี้ลงพิมพ์ในคิวทอง เดือน พ.ค. 2535

สนุกเกอร์ให้ทั้งคุณและโทษ

     ฉบับนี้ ขออนุญาตแฟนๆ นิตยสาร คิวทอง ทุกท่าน ที่ให้การอุปการะต่อนิตยสารฉบับนี้มาโดยตลอด ที่จะต้องเขียนถึง

     “เรื่องส่วนตัว ที่แฟนๆ สนุกเกอร์ข้องใจและสอบถามมามากมาย หากไม่ชี้แจงให้หายสงสัย ก็จะทำให้เกิดการ เข้าใจผิด และคิดไปต่างๆ นานา

    เรื่องส่วนตัว ที่ว่าก็คือ มีทั้งจดหมายและโทรศัพท์สอบถามมากมาย หากเป็นจดหมายก็กองพะเนิน ส่วนโทรศัพท์ ไม่ต้องพูดถึง รับกันจน หูชา ทีเดียว เรื่องที่แฟนสนุกเกอร์สอบถามก็คือ ทำไมถึงไม่มีคอลัมน์ คิวทอง ในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์

     ก็ต้องชี้แจงกันให้แจ่มแจ้งแดงแจ๋กันทีว่าเรื่องเป็นยังไงกันแน่

 

     เอากันตั้งแต่ปี 2517 คือเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา ผมถูกเรียกตัวด่วนเข้าเสริมทีมข่าวกีฬา เดลินิวส์ ซึ่งเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจาก สตาฟฟ์เดิม ยกโขยงออกจาก เดลินิวส์ ทั้งชุด ติดตาม คุณสนิท เอกชัย หรือเจ้าของนามปากกา เรือใบ ไปออกหนังสือฉบับใหม่ ภายใต้ชื่อ เดลิไทม์

     ผมเข้าประจำสายกีฬาด้วยการเป็น นักข่าว ตั้งแต่ปี 2517 โดยก่อนหน้าอยู่ พิมพ์ไทย ตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งถึงปี 2521 ก็เขยิบฐานะขึ้นมาเป็น หัวหน้าข่าวกีฬา และพอปี 2522 สำนักงานเดลินิวส์ ซึ่งเดิมทีอยู่ถนนสี่พระยา ก็ย้ายมาตึกใหญ่ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีจนกระทั่งบัดนี้

     และในปี 2525 มีนักสนุกเกอร์ 2 คน ซึ่งคุ้นเคยกันเมื่อสมัยที่ผมเองยังเล่นสนุกเกอร์อยู่แถวสุรวงศ์ คือ คุณศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย หรือที่เรียกกันว่า เซียนเง็ก อ่างทอง กับ คุณชรินทร์ ชยานุรักษ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ เซียนเอ็ง บ้านใหม่ ได้บุกไปหาถึงสำนักงาน โดยมีจุดประสงค์จะลงแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่หลังจากหดหายไปนานถึง 12 ปี

     เซียนเง็กกับเซียนเอ็ง พอแจ้งจุดประสงค์ให้ช่วยส่งแข่งขันในนามของ เดลินิวส์ แค่พูดกันไม่กี่คำ

     ผมเลย โอ.เค

 

     เพราะยังไงก็เพื่อนเก่า เพื่อนแก่สมัย 20 ปีก่อน ไม่ช่วยเพื่อนแล้วจะช่วยใครพอได้ไปเห็น ได้สัมผัสกับวงการสนุกเกอร์อีกหน กลิ่นไอเก่าๆ ก็กลับเข้ามาสิงตัวเอง ผมเริ่มชอบ และเห็นแววของสนุกเกอร์ว่าอนาคต จะต้องไปได้ เพราะฝีมือคนไทยนั้นไม่เบา

     ดังนั้นในปีถัดมา 2526 ก็กำเนิดคอลัมน์ คิวทอง ขึ้นในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ เป็นคอลัมน์ซุบซิบบอกกล่าวถึงคนในวงการสนุกเกอร์ทั้งในและนอกประเทศ

     แรกๆ นั้นมีเสียงคัดค้านมาในหลายทิศหลายทาง ทั้งภายในและภายนอก

   ภายใน ก็จากผู้บังคับบัญชาหรือที่เรียกว่าบรรณาธิการ ได้เรียกไปตำหนิถึงการเปิดคอลัมน์นี้ขึ้นมา เพราะว่ากลัวจะเป็น ดาบสองคม ทำให้เยาวชนเสียเด็ก

     จึงต้องชักแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบายกันยืดยาวและลงท้ายที่ว่า สนุกเกอร์นั้น สามารถทำให้เป็นกีฬาได้ หากมีผู้นำหรือเดินกันได้ถูกทาง และที่สำคัญ คนไทย มีฝีมือ หากขาดผู้สนับสนุนก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ส่วนที่สำคัญจริงๆ

    ก็คือหากสนุกเกอร์เป็นที่ติดตาตรึงใจขึ้นมา เดลินิวส์ก็จะภาคภูมิใจเพราะเป็นผู้จุดไฟสว่างให้กับคนในวงการนี้ นอกเหนือจากผลพลอยได้คือ ใครที่ติดตาม สนุกเกอร์ ต้องซื้อหา เดลินิวส์

     ทางด้านกระแสต่อต้านจากภายนอกก็คือผู้ปกครองของเด็กๆ ที่โวยวายหาว่าผมคือ ซาตาน หรือ หมอผี ตัวร้ายที่ปลุกสิ่งชั่วร้ายคือ สนุกเกอร์ มามอมเมาเยาวชน กว่าจะชี้แจงและชี้ทางป้องกัน ผมถูกด่าไปมากพอสมควร

     ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่เกิดคอลัมน์ คิวทอง ขึ้นมาในเดลินิวส์ ผมพยายามขอร้องไปยังสโมสรต่างๆ อย่าปล่อยให้เด็กนักเรียนเข้าไปใช้บริการ

     แต่เป็นเพียงคำขอร้องเท่านั้น ผมไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดให้ใครเปิด-ปิดได้ ดังนั้นจึงมีบางแห่งที่เห็นแก่ได้ ปล่อยให้เด็กเข้าไปมั่วสุม

     ดังนั้นสนุกเกอร์ในทุกวันนี้ ใครว่าดีก็ดี ที่ว่าไม่ดี ผมก็ไม่เถียง เพราะของจริงมันเป็นเช่นนั้น

 

     ผมเป็นหัวหน้าข่าวกีฬา 14 ปีเต็มๆ ยัง อดภูมิใจตัวเองไม่ได้ ที่มีส่วนทำให้สนุกเกอร์เป็นที่รู้จัก และชื่นชอบของคนทั่วไป รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เคยชิงชังก็ชักเห็นดีไปด้วย โดยเฉพาะมีส่วนทำให้ ต๋อง โด่งดังถึงบัดนี้ และสิ่งที่ภูมิใจเหนืออื่นใดก็คือตำแหน่ง โค้ชยอดเยี่ยม ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้โค้ชยอดเยี่ยมของงาน มหกรรมกีฬา และโค้ชยอดเยี่ยมของ สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา

     แต่ดีใจไม่ทันไร ก็ชัก อึดอัดใจ ในที่ทำงาน เพราะเขาหาว่า สนุกเกอร์ กับ มวย มันเฟ้อมากไป ก็เลยมีการสลับปรับตำแหน่งกันใหม่ในกองบรรณาธิการ เดลินิวส์ โดยดันผมขึ้นเป็น บรรณาธิการฝ่ายประสานงาน ภาษาราชการต้องเรียกว่า ถูกโยกประจำกรม ตำแหน่งสูงขึ้นจริง แต่อำนาจหมดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงต้องยื่นใบลาออก เพราะเกิดความละอาย กินเงินเดือนเขาเต็มที่ แต่เขียนต้นฉบับ คิวทอง ส่งให้สัปดาห์ละแค่ 2 วัน และเมื่อรู้ว่า สนุกเกอร์ มีส่วนทำให้ผมต้องพ้นตำแหน่งจากหน้าที่จากกีฬา ผมจึงประชด ไม่เขียนมันซะเลย

     และนี่คือความสัตย์จริงที่ต้องชี้แจงให้ทราบ ผมรักและผูกพันกับสนุกเกอร์มาตลอด พาเจ้าต๋องไปแข่งเกือบทั่วโลกปีละหลายครั้งหลายปี บาทเดียวไม่เคยใช้เงินของโรงพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก เบี้ยเลี้ยง ผมไม่เคยเบิก

         ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้ร่ำรวยอาศัยคนมีอันจะกินที่เขาช่วยเหลือวงการสนุกเกอร์อย่าง คุณธนิต ตันติเมธ, คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ และ คุณสุพงษ์ พงษ์พรรณเจริญ คอยโอบอุ้มพยุงกันตลอดเวลา ผมออกจาก เดลินิวส์ ชนิดที่เรียกว่าไม่ได้ร่ำลาใคร ผู้ใหญ่ที่นับถือ เช่น ท่านผู้อำนวยการ ประสิทธิ์ เหตระกูล ก็ไม่ได้ลา เพราะเชื่อแน่ว่าหากบอกท่าน ก็คงจะถูกยับยั้ง ดังนั้นจึงไม่บอกใคร

     แต่ขอยืนยันว่าคอลัมน์ คิวทอง คงจะเวียนว่าย-ตายเกิดใน หนังสือพิมพ์คิวทอง ขอให้ติดตาม และช่วยกันเป็น แฟนประจำ และมีผู้โปรยยาหอมไว้ว่า

                หากนึกถึงสนุกเกอร์ ก็เห็นภาพ ต๋อง พร้อมเสียง ศักดา

คิวทอง