อยู่เพื่อรอวันพลัดพราก

2 ต.ค. 58

อยู่เพื่อรอวันพลัดพราก

เมื่อมีเกิดย่อมมีดับ คือ สัจธรรม ที่ทุกคนไม่สามารถหลุดพ้นมือ มัจจุราช

ถึงแม้จะมีเงินทองมากมายก่ายกองก็ไม่สามารถ ซื้อชีวิต กลับคืนมา ทุกชีวิตต้องจบสิ้น ณ ที่เดียวกัน

          หากไม่ใช่ที่ เชิงตะกอน จนร่างมอดไหม้เป็นผงธุลี อีกที่ก็คือเลือกให้ ดินกลบหน้า เพื่ออยู่ให้ลูกหลานได้กราบไหว้ต่อไป
และแม้ว่าจะรู้กันอยู่ถ้วนหน้าว่า เราอยู่เพื่อรอวันจาก แต่เมื่อวันจำลามาถึงก็อดที่จะสลดใจต่อผู้ที่จากไปไม่ได้ คนที่ไม่เคยสูญเสีย
อาจจะไม่รู้ว่ามันเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด หากผู้ใดทำใจไม่ได้ปล่อยให้ทุกข์-โศก มาครอบคลุมร่างกายและจิตใจก็จะทรุดโทรมตามไปด้วย
กว่าจะเยียวยา ให้กลับมาดีเหมือนเก่าคงใช้ระยะเวลาอีกยาวนาน

 

        ผมเกริ่นมายืดยาวก็เพื่อจะบอกให้ แฟนสนุกเกอร์ ได้รับทราบว่า บัดนี้วงการสอยคิวต้องสูญเสียคนที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงการ
สนุกเกอร์ไทยไปอย่างไม่มีวันกลับ เปรียบเสมือน ไม้ใหญ่ ที่ต้องมรสุมจนล้มครืน ทำให้เหล่านก-กาที่เกาะอาศัยพลอยต้องย้ายรังใหม่
เพื่อหาที่พักพิง การสูญเสียกำลังที่สำคัญของชาวคิวอย่าง “ป๋าธนิต” ธนิต ตันติเมธ เจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่น ที่โด่งดังในอดีต
และเป็นสถานที่สถิตของบรรดา ชาวคิว ระดับชาติหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ประเทศไทยหลายยุคหลายสมัยอย่าง
วิเชียร แสงทอง แชมป์สมัครเล่นโลกอย่าง ต่าย พิจิตร – ศักดิ์ชัย ซิมงาม – รม สุรินทร์ – เสือ ทองราชา อ๊อด นางเลิ้ง
และใครต่อใครอีกมากมายก็เคยพึ่งใบบุญอาศัยอยู่ ณ อาคารแห่งนี้ อาคารที่ชาวคิวรู้จักกันดี เพราะเจ้าของสถานที่คือ ป๋าธนิต ตันติเมธ
ต้อนรับทุกคนที่เหยียบย่าง ไม่เฉพาะแค่นักสนุกเกอร์ในไทย แม้แต่ต่างชาติก็รักและศรัทธาในตัวป๋า

          ป๋าธนิต หากย้อนยุคไปเมื่อ 10 ปีก่อน แฟร้งกี้ ชาน นักสนุกเกอร์ฝีมือดีจากฮ่องกง แซมซอง จากมาเลเซีย เลา เวงยู และ
เบนจมิน ลุย แห่งสิงคโปร์ พวกเขาเหล่านี้ต่างเคยพึ่ง ใบบุญ มาโดยตลอด ในยามที่มาเมืองไทยนักกีฬาเหล่านี้ก็จะได้ที่ฝึกซ้อมอย่างดี แถมยังได้ที่พักและอาหารจากเจ้าของสถานที่ที่หยิบยื่นให้ จนทุกคนอิ่มทั้งท้องและอิ่มทั้งใจ ที่ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจนยากที่จะลืมเลือน

          ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย แม้ในยามที่ชาวผิวเหลืองต้องเดินทางไปแข่งขันในแถบยุโรปหรือในถิ่นของชาวภารตะ ป๋าธนิต
คือบุคคลสำคัญที่นักสอยคิวเพื่อนบ้านจะต้องมาพึ่งพาอาศัยในเรื่องของอาหารการกิน เพราะไปยุโรปหากไม่ได้กินข้าว
นักกีฬาก็ไม่มีแรงที่จะไปต่อสู้กับใคร หากจะให้กินแต่ขนมปังหรืออาหารประจำชาติ เชื่อแน่ว่าชาวเอเชียคงอยู่กันไม่ได้ รวมถึง นักกีฬาไทย
ดังนั้นทุกครั้งที่ไปแข่งขันไกลๆ จะมีครัวไทย เสบียงจากเมืองไทยไปตั้งไว้ที่นั่น โดยมี ป๋าธนิต เป็นกำลังสำคัญในเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งหมด นักกีฬาเกือบทุกชาติในแถบแหลมทองจะมารวมกันอยู่ที่แคมป์ของ นักกีฬาไทย เพราะที่นี่มีพร้อมสรรพทั้งอาหารการกิน
และน้ำใจจากผู้ควบคุมทีม

        ย้อนอดีตเมื่อ 10 ปี ก็คือปี 2530 มีการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ที่อินโดนีเซีย โดยบรรจุสนุกเกอร์แข่งขันเป็นครั้งแรก ป๋าธนิต
เป็นผู้ควบคุมนักกีฬาไปแข่งขัน ประกอบด้วย ต๋อง ศิษย์ฉ่อย – ศักดิ์ชัย ซิมงาม – ดร เมืองชล และ ธงชัย ปุณยวีร์ นักสนุกเกอร์เหล่านี้ได้สร้างชื่อด้วยการคว้ามา 3 เหรียญทอง และในเดือนตุลาคม 2540 ซีเกมส์ ที่อินโดนีเซียก็จะเวียนมาถึง แต่น่าเสียดายว่า ป๋าธนิต
ไม่มีโอกาสได้ร่วมทีมชาติไทยไปซีเกมส์ เพราะชีวิตถูกฉุดไปอยู่อีกโลก ทำให้ นักกีฬาทีมไทย และบุคคลใกล้ชิดต่างโศกเศร้าในการจากไปของคนที่มีแต่ให้เพื่อสนุกเกอร์เพียงอย่างเดียว

          การพลัดพรากหรือการลาจาก แม้ว่าจะรู้ล่วงหน้าไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า แต่เมื่อวันจากลามาถึงก็ต้องใจหายไปตามๆกัน
ต้องยอมรับว่าสมองมึนงงอยู่เป็นนานเมื่อทราบข่าวว่า ป๋าธนิตสิ้นใจ และทำยังไงถึงจะบินกลับจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ให้มาถึงวันงาน
อย่างรวดเร็ว เพราะมีการสวดพระอภิธรรมแค่ 5 คืน และรุ่งขึ้นต้องนำไปฝังที่สุสาน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผมรู้ข่าวบ่ายวันจันทร์
และก็ได้ตั๋วกลับวันพุธถึงวันพฤหัสบดี ทันสวดพระอภิธรรมคืนสุดท้ายและได้มีโอกาส ส่งป๋าธนิต ถึงสถานที่อยู่ใหม่ที่ แก่งคอย ขอขอบคุณ
สายการบิน KLM ที่พยายามเจียดที่นั่งให้ แม้ว่าทุกที่นั่งจะเต็มเอี้ยด เพราะหากพลาดงานศพหนนี้เท่ากับจะต้องเสียใจถึง 2 ต่อ
คือเสียใจที่ป๋าธนิตต้องจากไป แล้วยังต้องมาเสียใจที่มาร่วมงานไม่ได้ แต่เหมือนป๋าช่วย การเดินทางกลับจึงราบรื่นและมาทันเหตุการณ์
ได้มาเห็นผู้คนมาร่วมงานอย่างคับคั่งเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแด่ผู้ล่วงลับ

"คนที่จะดีหรือไม่ ให้สังเกตได้จากงานศพของคนผู้นั้น"

 

ศักดา รัตนสุบรรณ

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558