ปิดตำนาน อดีตเซียนดังสอยคิว

13 ส.ค. 58
เหล่าเซียนดังในอดีต
เหล่าเซียนดังในอดีต

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่มีการยกเว้นแม้แต่ มหาเศรษฐีมีเงินหมื่นล้านแสนล้านหรือ พวกหาเช้ากินดึก ทุกชีวิตเมื่อถึงเวลาก็ต้อง ตาย

นี่คือสัจธรรม ที่ไม่มีใครหลีกพ้น

เมื่อเดือนสิงหาคม 2528 ถือเป็นการกำเนิดนิตยสารเกี่ยวกับสนุกเกอร์ที่ชื่อ คิวทอง ซึ่งชื่อนี้พอติดตาฝังใจใครต่อใครไม่น้อย เพราะกำเนิดครั้งแรกที่ หนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” เมื่อปี 2526 ในหน้ากีฬาโดยมีคอลัมน์ “คิวทอง” ซึ่งเสนอเรื่องราวของ บรรดาเซียนสนุกเกอร์ที่ออกเดินสายไปซุ่มกินมืออ่อนกว่าทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ มีการนำภาพ แต่ละเซียน มาตีพิมพ์ประกอบข่าวสังคม จนทำให้เซียนหลายคน เดินสายไม่สะดวก โดยมีคนเห็นภาพแล้วจำหน้าได้ก็ไม่กล้าเล่นด้วย สุดท้ายเหล่าเซียนทั้งหลายจึงเลิกเดินสายหันมา เปิดตัว สู้กันซึ่งๆ หน้า

โดยมีการแข่งขันเป็นประจำที่อาคารมิตรเดือนเด่นของ “ป๋าธนิต ตันติเมธ” ผู้จุดประกายให้ คิวทองลืมตาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นผู้อุปการะนักกีฬาเกือบทุกคนและเกือบทุกเซียนทั่วประเทศ ไล่กันตั้งแต่ วิเชียร แสงทอง (เซียนกิ๊ด นครสวรรค์), ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ชัย ลำพูน), ธงชัย แซ่ลิ้ม (เป้า ศิษย์ฉ่อย), ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ (ต่าย พิจิตร), ประพฤติ ชัยธนสกุล (รมย์ สุรินทร์), อุดร ไข่มุกค์ (ดร เมืองชล) และใครต่อใครมากมายจนจาระไนไม่หมดอาทิ โต้ง กันอริ, อ๊อด นางเลิ้ง, เสือ ทองราชา, สายัณห์ เดือนเด่น, จอม อัลคาร์ซ่า, เต่า หลังสวน, เปา โพธิ์สามต้น ฯลฯ ซึ่งทุกคนได้อาศัยอาคารมิตรเดือนเด่นอยู่ฟรีคนละหลายสิบปี

น่าเสียใจและเสียดายที่ “คิวทอง” ได้กราบลา ป๋าธนิต เพื่อไปรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์รายวันเก่าแก่ที่ชื่อ พิมพ์ไทย เพื่อฟื้นฟูกลับมาใหม่ในฐานะ ผู้อำนวยการโดยมีอดีตบรรณาธิการชื่อดังร่วมแรงร่วมใจหลายท่านอาทิ มานะ แพร่พันธุ์ (บก.เก่า), สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช, สมชาย ฤกษ์ดี, สุคนธ์ ชัยอารีย์

การบอกกล่าวให้ ป๋าธนิต รับทราบถึงความจำเป็นที่ต้องลาจากทำให้ ป๋าธนิต อึ้งไปนาน แต่ไม่ยับยั้งแถมอวยพรให้โชคดี แต่ไม่คิดว่าการจากลาเมื่อปี 2538 แล้วไม่ได้เห็นหน้า ป๋าผู้มีแต่ให้ ตลอดไปซึ่งทราบว่าหลังจาก ลาเจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่นที่จุดประกายให้ หนังสือคิวทอง เกิดขึ้นเมื่อปี 2528 และอยู่กับท่านมาเพียง 10 ปีก็ต้องแยกจากกัน จนกระทั่งในปี 2540 ได้คุม นักกีฬา ไปแข่งชิงแชมป์โลกที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์พร้อม คุณสุนทร จารุมนต์ เดินทางมาถึงเพียง 2 วัน นักกีฬายังไม่ทันได้ลงสนามก็ทราบข่าวร้ายจากเมืองไทยว่า ป๋าธนิต สิ้นใจด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งสาเหตุจากการบอกเล่าของหมอประจำตัวว่า ป๋าเครียดมาตลอด 2 ปีในช่วงที่ไม่มี คิวทอง อาศัยอยู่ที่อาคารมิตรเดือนเด่นจนกลายเป็น คนซึมเศร้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ป๋าธนิต เป็นคนร่าเริงยิ้มแย้มตลอดเวลาแต่อาจเพราะ ผูกพันกันนาน 10 ปี เมื่อต้องแยกจากกันทำให้ คนสูงวัยคิดมากซึ่ง ป๋าธนิต จากโลกนี้ไปด้วยวัยแค่ 69 ปี โดยเสียชีวิตเมื่อปี 2540 หากยังอยู่ ป๋าธนิตจะมีอายุ 87 ปี

ผมรีบจองตั๋วเครื่องบินกลับทันทีและโชคดีที่สายการบิน KLM อำนวยความสะดวกแม้ตั๋วชั้นประหยัดเต็มแต่ก็ อัพเกรดให้นั่งชั้นบิสเนสคลาส โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มและโชคดีที่มาทันงานสวดพระอภิธรรมวันสุดท้าย ซึ่งมีพิธีกงเต๊กที่วัดเทพศิรินทร์และรุ่งเช้าร่วมขบวนไปส่งศพให้ ป๋าธนิต ไปพำนักบ้านใหม่ ณ สุสานฮั่งกัง สระบุรี ซึ่งทุกปีหากผมไม่ได้ไปต่างประเทศ จะไม่ลืมไปคารวะป๋าธนิตในวันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันที่ไม่อาจลืมเพราะ ป๋าเสียชีวิตวันเดียวกับนักร้องชื่อดังของโลก เอลวิส เพรสลีย์ และราชาลูกทุ่งไทย สุรพล สมบัติเจริญ

ผมเปิดหัวตำนานเซียนดังที่ลาลับด้วย ผู้มีบุญคุณต่อนิตยสารคิวทอง ป๋าธนิต ตันติเมธ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงการกำเนิดหนังสือฉบับนี้ เพื่อเป็นการรำลึกบุญคุณของท่าน และหากวิญญาณมีจริงหรือด้วยวิถีใดที่ทำให้ ป๋าธนิต สามารถรับรู้ก็คงภูมิใจหนังสือที่ท่านก่อตั้ง บัดนี้เติบใหญ่ถึง 30 ปี หากเป็นหนุ่มสาวก็จัดอยู่ในวัย กำลังมีพลัง และต่อไปนี้คือ ตำนานเซียนดับ

เซียนตา ลาไปก่อนใคร

ในช่วง 10 ปีแรกที่นิตยสารคิวทองอยู่ที่อาคารมิตรเดือนเด่น บรรดาเซียนน้อยใหญ่ยังอยู่กันสุขสบายดี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน

รายแรกคือ เซียนตา ลพบุรี หรือชื่อจริง ตา ตันยุติธรรม เป็นยอดฝีมือที่หาตัวจับยาก เก่งทั้งสนุกเกอร์และบิลเลียด โดยมีจุดเด่นที่สามารถ แทงมือเดียว ได้แม่นยำเป็นพิเศษและต่อให้มือระดับกลางๆ โดยเฉพาะ ลูกจิ้ม (กลางโต๊ะ) ที่ภาษานักสนุ้กฯ เรียกว่า ลูกปง เซียนตา มีความชำนาญมาก และที่สำคัญและเป็นจุดเด่นที่กล่าวขวัญจนทุกวันนี้คือ ลูกจิ้มกลางโต๊ะสามารถสกรูถอยหลังจากจุดน้ำเงินถอยมาหาดำได้อย่างสวยงาม

จุดเด่นของเซียนตาคือ การตัดสินใจที่เด็ดขาด กล้าได้กล้าเสียและส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะพลาด จึงจัดอยู่ในระดับ เซียนแถวหน้าเคยขยับขึ้นเบอร์ 1 แล้วหล่นมา 2-3 แล้วกลับขึ้นใหม่จนใครต่อใครให้ฉายา “แมวเก้าชีวิต”

แต่จุดอ่อนของ เซียนตา ลพบุรี ก็คือเป็นคนพูดมาก จนใครต่อใครต่างมีมติให้ เซียนตา เป็นจอมคุย จอมโม้ ที่หาตัวจับยาก และมักมีปากเสียงกับเพื่อนเซียนด้วยกันเป็นประจำ จนกระทั่งราวปี 2534 ก็ไม่มี เซียนตา ลพบุรี ให้กล่าวถึงอีกต่อไปโดย เซียนตา สิ้นใจด้วยโรคหัวใจล้มเหลว โดยมีพิธีสวดพระอภิธรรมที่ วัดอ่อนนุช ซึ่งอยู่แถวบ้านเซียนดังรายนี้

เซียนตา ลพบุรี หรือ ตา ตันยุติธรรม
เซียนตา ลพบุรี หรือ ตา ตันยุติธรรม

เซียนฉ่อย ซู่ซ่าส์ ตามมาติดๆ

เซียนที่ไปก่อนวัยอันสมควรคือ เซียนฉ่อย ซู่ซ่าส์ หรือชื่อจริง นายโกวิน ภู่โอบอ้อม (ซึ่งเขาเปิดเผยว่าจำเป็นต้องใช้ชื่อโกวิน) ภาษาอังกฤษ โก แปลว่าไป วิน คือชนะ ดังนั้นเมื่อนำมารวมกันก็คือ ไปเพื่อชนะ และทุกครั้งเช่นกันไปแล้วไม่ชนะ “หมดตูด” กลับมาทุกครั้งจนได้ฉายา ฉ่อย ซู่ซ่าส์ “ไม่มีไม่มา ไม่หมดไม่กลับ” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดยอดฝีมือผู้จุดประกายให้วงการสนุกเกอร์ไทยและเอเชียโด่งดังจนถึงทุกวันนี้คือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย การเสียชีวิตของเซียนฉ่อยก็ด้วย “ไข้โป้ง” โดยก่อนหน้านี้มีปัญหากับหุ้นส่วนที่ร่วมทำกิจการโต๊ะสนุกเกอร์จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ต่างฝ่ายต่างระวังตัวแจโดย เซียนฉ่อย ถูกพระอาจารย์ชื่อดัง หลวงพ่อเปิ่น ที่ผู้คนให้ความเคารพศรัทธาเคยทักท้วงจะมีเคราะห์กรรมภายใน 7 วัน อย่าออกจากบ้านเด็ดขาด เซียนฉ่อย เป็นคนเชื่อถือเรื่องกฎแห่งกรรม จึงยอมปฏิบัติตามไม่ออกจากบ้าน 5 วันเต็ม พอวันที่ 6 เจ๊ตุ๊ก พี่สาวต๋องมีปัญหากับญาติเจ้าของโต๊ะสนุ้กฯ ยี่ห้อดัง แถมจะถูกฟ้องอีกต่างหาก เซียนฉ่อย จึงจำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปไกล่เกลี่ย หลังจากทำหน้าที่เสร็จกำลังไขประตูเข้าบ้านก็ถูก มือปืนประชิดตัว ซัดโวด้วย 11 ม.ม. เข้าทั้งหัวและลำตัว ปลิดชีวิตเซียนดังในวัยไม่ถึง 60 ปี

ส่วนชื่อ ฉ่อย ซู่ซ่าส์ คนที่ตั้งชื่อให้คือ ศักดา รัตนสุบรรณ เพราะเซียนฉ่อยซู่ซ่าส์จริงๆ ขนาดวันที่ ต๋อง ปะทะฝีมือ ศักดิ์ชัย ซิมงาม โดยเป็นการชิงแชมป์ 16 เซียนที่โต๊ะรุคส์ข้างโรงภาพยนตร์อีเอ็มไอ (ยุค 40 ปี) ปรากฏว่าพอ ต๋อง โค่น ศักดิ์ชัย เซียนฉ่อย ก็ลงไปชักดิ้นชักงอล้มกลิ้งข้างโต๊ะแน่นิ่งจนใครต่อใครตกอกตกใจ แต่หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงเป็นที่ครึกครื้นทั้งสนาม ส่วนจุดเด่นของ ฉ่อย ซู่ซ่าส์ คือสามารถตอบโต้กลอนกับอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จนฮือฮาทั้งวงการ

โดยเนื้อหาสักวาของอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อปี 2534 มีดังนี้

 

สักวา     นั่งมอง     ต๋อง ศิษย์ฉ่อย

แทงสนุ้กฯ     เลิศลอย     หาใครสู้

นั่งชมศิษย์     ทำให้คิด     ไปถึงครู

อยากจะรู้     ว่าฉ่อย     นั้นคือใคร

 

            ทำอะไร     อยู่ที่ไหน     ใคร่ขอถาม

            จะได้ตาม     ไปเป็นศิษย์     พิสมัย

            ชื่อคึกฤทธิ์     ศิษย์ฉ่อย     น้อยเมื่อไร

            จงเห็นใจ     ตอบสารา     มาหน่อยเอย

และหลังจากนั้นไม่นาน ฉ่อย ซู่ซ่าส์ แต่งกลอนโต้ตอบในนิตยสารคิวทองในเวลาถัดมาที่ฮือฮาทั่วประเทศ

 

สักวา     นั่งมอง     ตรองจนดึก

ต้องมานั่ง     คิดลึก     นึกหดหู่

ท่านคึกฤทธิ์     จะให้     ไปเป็นครู

ทั้งอยากรู้     ว่าฉ่อย     นั้นเป็นใคร

 

           ฉ่อย ซู่ซ่าส์     รู้ข่าว     แล้วไข้กลับ

            คนระดับ     คึกฤทธิ์     พิสมัย

            ชีวิตนี้     เกิดมาแล้ว     ไม่เสียดาย

            แม้ว่าตาย     มีคึกฤทธิ์     ศิษย์ฉ่อยเอย

ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เดินนำขบวนแห่ศพบิดาบังเกิดเกล้า (ฉ่อย ซู่ซ่าส์)
ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เดินนำขบวนแห่ศพบิดาบังเกิดเกล้า (ฉ่อย ซู่ซ่าส์)

เซียนเหนือเซียน เส็ง แปดริ้ว

เมื่อกว่า 50 ปีมีสุดยอดนักบิลเลียด-สนุกเกอร์ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ในเชิงการสอยคิว ถ้าหากเปรียบฝีมือก็ระดับต้นๆ ของประเทศ เคยปะทะเซียนดังนักต่อนักไม่ว่าจะเป็น กิ๊ด นครสวรรค์-ตา ลพบุรี-เง็ก อ่างทอง-เก๊า แปดริ้ว เซียนรายนี้เป็นคู่ปรับตัวฉกาจแต่เก่งเฉพาะในถิ่นที่เมือง หลวงพ่อพุทธโสธร ฉะเชิงเทรา หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนามของ เมืองแปดริ้ว

เส็ง แปดริ้ว เป็นลูกชาวจีน แต่นิสัยเกเรตั้งแต่เล็ก หนังสือหนังหาอ่านไม่ออกเพราะไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่ละวันอาศัยกินอยู่หลับนอนในโต๊ะบิลเลียด ซึ่งยุคนั้นถือเป็นสถานที่ “อโคจร” คนดีๆ ไม่เข้าไปสัมผัส ดังนั้นคนที่เข้าโต๊ะบิลเลียดยุคนั้นจึงหาใช่คนดีและส่วนใหญ่จะเป็นพวก นักเลง ไล่กันตั้งแต่รุ่นเล็กประเภท ตีหัวหมา-ด่าแม่เจ๊ก จนกระทั่งไปถึงระดับ เจ้าพ่อ และ ขุนโจรชื่อดัง จะออกปล้นบ้านไหนก็มาวางแผนกันในโต๊ะบิลเลียด ซึ่งบางคนถูกปลุกลุกขึ้นมาร่วมฟังแผนการปล้น ทั้งที่กำลังนอนสูบฝิ่นในโต๊ะบิลเลียดทั้งวันทั้งคืน เพราะยุคนั้น ดูดกัญชา-สูบฝิ่น ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมาพอผงขาวหรือ เฮโรอีน เข้ามาเผยแพร่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีที่ยึดครองอำนาจจึงสั่งเฉียบขาดกำจัดให้สิ้นซากทำให้ พวกขี้ยา ทำท่าลงแดงไปตามๆ กัน

เส็ง แปดริ้ว ก็เป็นหนึ่งในสมาชิก ติดยาเสพติด แต่ละวันจะใช้ฟอยด์ที่อยู่ในซองบุหรี่มาม้วนทำเป็นกรวย ใส่ผงขาวลงไปแล้วลนด้วยไม้ขีด (สมัยก่อนไม่มีไฟแช็ค) แล้วสูดควันเข้าปอด พอนานเข้าก็ผอมแห้งแรงน้อย ลมพัดแรงๆ มีสิทธิ์ลอยตามลม และค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคน คนที่ยังไม่ตายก็ถูกจับเข้าคุกอยู่หลายปี พอออกจากคุกก็เสพอีกเหมือนเดิม เรียกว่า เข้าๆ ออกๆ จน ผู้คุมเห็นหน้าแล้วร้องว่า

มึงอีกแล้ว...

เซียนเส็ง แปดริ้ว เข้าออกคุกหลายรอบจนล่าสุดเมื่อปี 2530 ศักดา รัตนสุบรรณ ได้เชิญมาให้เล่าประวัติลงในคิวทองซึ่งสัมภาษณ์โดย “ศักดิ์อำนวย” อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จุดเด่นของเซียนรายนี้ก็คือ

ใช้ปากแทงทั้งบิลเลียด-สนุกเกอร์

เป็นเซียนหนึ่งเดียวของไทยที่ใช้วิธีนี้เล่นกับคู่ต่อสู้ และทำเงินได้วันละหลายร้อยบาท โดยยุคเกือบ 60 ปีเงินร้อยบาทมีค่าเท่าหมื่นบาทในยุคปัจจุบัน เซียนเส็ง ใช้ปากแทงได้ดีไม่น้อยไปกว่าใช้มือแทงเท่าใดนัก ความแม่นยำและการเดินขาวเยี่ยม แต่มีปัญหาในการ สกรู หรือเล่นลูกหนัก และด้วยลูกหนักนี้ทำให้ เซียนเส็ง ต้องเลิกใช้ปากแทงในที่สุด กล่าวคือ

ครั้งหนึ่งเล่นเดิมพันบิลเลียดกับมือปานกลาง ในช่วงที่กำลังทำแต้มนำมีอยู่ชอตหนึ่งที่ เซียนเส็ง ต้องออกกำลังปาก โดยปลายคิวพาดอยู่ขอบชิ่ง เขาชักคิวสุดขอบชิ่งเพื่อกระแทกขาวชนแดงโดยดึงสุดตัวปรากฏว่า ปลายคิวตกมากระทบขอบชิ่งด้านล่างทำให้ด้ามคิวทะลุเข้าไปในคอ เลือดสดๆ ทะลักออกมา ต้องรีบพาขึ้นสามล้อไปโรงพยาบาล และตั้งแต่นั้นมา เซียนเส็ง ก็ประกาศเลิกใช้ปาก

ซึ่งต่อมาไม่นาน เซียนเส็ง ก็มีอันต้องลาโลกเพราะไม่สามารถเลิกสิ่งเสพติดที่คร่าชีวิตเขาโดยตรง

เซียนเส็ง แปดริ้ว
เซียนเส็ง แปดริ้ว

เล็กพริกขี้หนู เซียนเง็ก อ่างทอง

ใน จำนวนยอดเซียนด้วยกันถ้าหากเอ่ยชื่อ ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย ไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก แต่ถ้าบอกเขาคือ เซียนเง็ก อ่างทอง ไม่ว่าเซียนเล็กเซียนใหญ่ผวาไปตามๆ กัน เพราะ 50 ปีก่อนนั้น เซียนเง็ก จัดเป็นนักเดินสายที่หาตัวจับยาก เขาขึ้นเหนือ ลงใต้ บุกอิสาน ผ่านตะวันออก วางแผนการเล่นที่แยบยลโดยขาไปไม่ว่าจะเล่นจังหวัดไหนและกับใคร เขาจะอ่อยเหยื่อ ไม่เอาชนะ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ คือเล่นแบบ ไม่ได้เสีย

แต่พอขากลับ ทีนี้ก็ปล่อยฝีมือเต็มที่ กวาดเซียนเจ้าถิ่นคนแล้วคนเล่า ไม่มีเซียนใดรอดฝีมือ เง็ก อ่างทอง แม้แต่รายเดียว เขาเป็นคนรูปร่างเล็กน้ำหนักแค่ 50 กิโลกรัม มีลูกเด็ดขาดที่ความสุขุม ออกคิวแต่ละชอตต้องชัวร์ และลูกทีเด็ดก็คือ ลูกเบิ้ล ทั้งหลุมกลางและหลุมมุมเชื่อขนมกินได้ แม้จะไม่ลงแต่ก็ไม่ตาย

เพื่อนคู่หูในยุคเดินสายคือ ศักดิ์ สุรวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นมือต่ำกว่า เง็ก อ่างทอง โดยไปเล่นที่ไหน ศักดิ์ สุรวงศ์ มักจะประเดิมก่อนเป็นการหยั่งมือเจ้าถิ่น แต่เมื่อเห็นว่ากินยากจริงๆ ค่อยถึงคิวเซียนใหญ่ เง็ก อ่างทอง และก็แน่นอนไม่มีใครรอดสันดอนแม้แต่รายเดียว เซียนเง็ก อ่างทอง เสียชีวิตประมาณปี 2538 ด้วยโรคกระเพาะ ซึ่งตลอดทั้งชีวิตกินอาหารไม่เป็นเวลาและไม่เคยตรงกันแม้แต่มื้อเดียว บางทีอาหารเช้าไปกินบ่าย อาหารเย็นไปกินตีสอง ซึ่งเป็นอย่างนี้นานเข้าสารพัดโรคก็รุมเร้าทั้ง ถุงลมโป่งพอง-กระเพาะอาหาร-ความดัน-เบาหวาน มาเยี่ยมชุดใหญ่ ในขณะที่คนไข้ตัวนิดเดียวจะสู้หลายโรคได้อย่างไร และในไม่ช้า วิญญาณก็ออกจากร่างด้วยวัยแค่ 50 ต้นๆ ทิ้งตำนานเซียนดังที่ทำให้ ชาวฮ่องกง หวาดผวาเพราะ ป๋าธนิต เคยพาเดินสายไปกินเซียนฮ่องกงถึงบ้าน

เซียนเง็ก อ่างทอง หรือ ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย
เซียนเง็ก อ่างทอง หรือ ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย

"ไอ้เสือหมอบ" โก๊ะ อยุธยา

อีก เซียนที่ดังไม่แพ้ใครเป็นยอดฝีมือจากกรุงเก่าเจ้าของฉายา โก๊ะ อยุธยา หรือชื่อจริง นิพนธ์ ผมเงิน มีดีกรีเป็นนักบิลเลียดทีมชาติเคยลงแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2534 พร้อม เซียนตึ๊ก โคราช และ เซียนตา ลพบุรี

เซียนโก๊ะ อยุธยา จัดได้ว่าเป็นเซียนประเภทสุขุมเยือกเย็น หากจับคิวเมื่อใดหากไม่เป็นต่อ 7-4 หรือ 3-2 เซียนโก๊ะ ไม่เล่นด้วย ทั้งๆ ที่ฝีมือระดับเดียวกับ เซียนกิ๊ด-เซียนตา-เซียนตึ๊ก-เซียนเง็ก-เซียนศักดิ์ชัย ซิมงาม แต่มักเลือกคู่ต่อสู้ หากสูสีจะไม่ปะทะด้วย ยกเว้นกรณีที่มีนายทุนสนับสนุน ลีลาของเซียนโก๊ะ ถือเป็นแบบอย่างที่นักสนุกเกอร์รุ่นหลังน่าศึกษาเพราะ เบสิกยอดเยี่ยม วางมือสวย เวลาจะออกคิว หน้าจะแนบเกือบติดผ้าสักหลาดจนได้ฉายา “ไอ้เสือหมอบ” เป็นนักสนุกเกอร์สูงโย่ง ออกคิวดีเฉียบคม แต่มีข้อเสียก็คือ หัวใจไม่ได้พกมาสู้ เวลาลูกได้เสียมักออกอาการเต้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะปราชัยคู่ต่อสู้ก็ด้วยเหตุนี้ เซียนโก๊ะ หนีไปเกิดใหม่ราวปี 2540 ซึ่งลูกเต้าได้รับการอุปถัมป์จาก นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดฯ สินธุ พูนศิริวงศ์ ช่วยส่งเสียจนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งความโอบอ้อมอารีของ นายกฯ สินธุ ทำให้ครอบครัว ผมเงิน ถือเป็นอภิมหาบุญคุณที่ยากทดแทน หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ ครอบครัวนี้ก็ต้องเดือดร้อนและเดาไม่ออกบอกไม่ได้ ลูกสาวโก๊ะ อยุธยา จะจบการศึกษาได้อย่างใร?

ตา ลพบุรี (ซ้าย) ปะทะ โก๊ะ อยุธยา (ขวา)
ตา ลพบุรี (ซ้าย) ปะทะ โก๊ะ อยุธยา (ขวา)

ต้นตำรับเซียนดัง กิ๊ด นครสวรรค์

ใคร ที่เล่นบิลเลียด-สนุกเกอร์ในยุค 6 ทศวรรษ ไม่มีใครไม่รู้จักหนุ่มร่างเตี้ยเป็นมะขามข้อเดียวในนามของ เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ หรือชื่อตามบัตรประชาชน นายวิเชียร แสงทอง ซึ่งอดีตกินนอนอยู่กับโต๊ะบิลเลียดตั้งแต่วัยว่าวจนเข้าวัยดึกที่โต๊ะน้ำพุ ราชเทวี ชื่อเสียงของ เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ จึงจัดลำดับอยู่ประเภทต้นๆ ของเหล่าเซียน

เขาเป็นแชมป์ประเทศไทยที่ยาวนานที่สุดหลายต่อหลายปี จนได้รับการคัดเลือกส่งไปชิงแชมป์อาเซี่ยน ซึ่งทางสิงคโปร์ริเริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2526 โดยมีกลุ่มอาเซี่ยนร่วมแข่งขันหลายชาติและลงท้าย 2 เซียนไทย กิ๊ด นครสวรรค์ เข้าชิงชนะเลิศกับ เซียนตา ลพบุรี ก่อนที่ เซียนกิ๊ด จะคว้าแชมป์อาเซี่ยนคนแรกและคนเดียว เพราะต่อมาไม่มีการแข่งขันอีกเลย แถมทำเบรกสูงสุด 143 แต้ม ทำให้ทั่วเอเชียฮือฮาเพราะไม่เชื่อว่า คนเอเชีย จะสามารถทำเบรกสูงขนาดนี้

สาเหตุที่ล้มเลิกการแข่งขันชิงแชมป์อาเซี่ยน เนื่องจากในปี 2527 นายมอริส เคอร์ นายกสมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งแรก โดยมี 8 ประเทศร่วมการแข่งขัน และจะหมุนเวียนจัดทุกปีไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก การแข่งขันหนแรกมีขึ้นที่โรงแรมบางกอก พาเลซ ประตูน้ำซึ่งผลปรากฏว่า เจ้าภาพ ไม่สร้างความผิดหวังโดย ศักดิ์ชัย ซิมงาม คว้าแชมป์เอเชียเป็นคนแรก และในปีถัดมา 2528 ย้ายไปแข่งที่สิงคโปร์หนนี้ ศักดิ์ชัย ร่วมไปกับ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่ได้ลงแข่งแทน วิเชียร แสงทอง เนื่องจาก วิเชียร เกิดล้มในห้องน้ำจนหัวแตกทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเป็นต๋องแทน แต่น่าเสียดายกระดูก เจ้าต๋องยังอ่อนเลยตกรอบ 16 คน โดยการแข่งขันครั้งนี้ ศักดิ์ชัย เสียท่าให้ แกรี่ ก๊อก ชาวฮ่องกง

สำหรับ เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยได้ปะทะฝีมือกับใคร โดยในอดีตมีคู่ปรับซึ่งถือเป็นคู่รัก-คู่แค้นกับ เซียนอ้วน บ้านใหม่ หรือ ชรินทร์ ชยานุรักษ์ และเป็นคนเดียวกับ เซียนเอ็ง บ้านใหม่ ที่โด่งดังในอดีต ช่วงหลังเซียนกิ๊ด สร้างศิษย์ใหม่ขึ้นมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น อ๊อด นางเลิ้ง-ต๋อง ศิษย์ฉ่อย โดยเฉพาะรายหลังไม่มีใครคาดหวังจะไปไกลระดับโลก และเป็นผู้จุดชนวนให้คนเอเชียรวมทั้งไทยตื่นตัวทำให้ กีฬาสนุกเกอร์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

แต่น่าเสียดาย วิเชียร แสงทอง อายุสั้นไปหน่อยเขาเสียชีวิตในวัย 60 ต้นๆ เมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง และเป็นการเสียชีวิตที่น่าสงสารที่สุดเพราะเขาตายในขณะที่ไม่มีใครรู้ ใครเห็น มารู้ก็ตอนที่ได้กลิ่นศพโชยจากบ้านพักย่านดอนเมือง ทำให้เพื่อนบ้านสงสัยต้องเกิดเหตุร้ายกับเจ้าของบ้าน เนื่องจากวิเชียรอยู่บ้านตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว โดยแยกกันอยู่กับ บุตรสาว ที่ต้องทำงานในเมือง โดยศพของ วิเชียร ถูกนำไปสวดพระอภิธรรมที่วัดย่านดอนเมืองโดยมี บุคคลในวงการสอยคิวร่วมไปส่งวิญาณมากมาย เป็นการทิ้งตำนานเซียนดังที่อยู่ยงคงกะพันไปอย่างน่าเสียดายที่ตายไวเกินไป

เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ หรือ วิเชียร แสงทอง (กลาง)
เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ หรือ วิเชียร แสงทอง (กลาง)

แป๊ะขายยา จั๊ว แปดริ้ว

ใน จำนวนเซียนด้วยกันชื่อของ จั๊ว แปดริ้ว จัดอยู่ในประเภทเซียนปานกลาง ฝีมือไม่หวือหวาและไม่หนักหน่วงแม่นยำเช่นทุกคน แต่ทีเด็ดของ เซียนจั๊ว คือปลอมตัวเป็น คนขายยาหม่องยาดม ตระเวนไปตามต่างจังหวัดที่มีโต๊ะสนุ้กฯ นั่งดูเขาเล่นเกือบทั้งวันพร้อมกับ ขายยาดม (บังหน้า) แต่ละวันมักจะหลอกกินมืออ่อนๆ จนเขยิบถึงมือสูงสุดประจำโต๊ะ และก็ไม่พลาด เซียนจั๊วใช้โอกาสที่บรรดาเจ้าถิ่น มองข้ามเป็นคนขายยา เลยเสียท่าเป็นส่วนใหญ่ เคยลงแข่งขันสนุกเกอร์ประเภท ครุยเซอร์เวต ที่อาคารมิตรเดือนเด่นอยู่หลายปี เพราะยุคนั้นมีการจัดฝีมือหลายรุ่นมี ประเภท ก. ระดับต้นๆ ของประเทศ อาทิ ศักดิ์ชัย ซิมงาม, ตา ตันยุติธรรม, วิเชียร แสงทอง, ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย, นิพนธ์ ผมเงิน, รินทร์ ระยอง, ธงชัย แซ่ลิ้ม, รมย์ สุรินทร์, โต้ง กันอริ, อ๊อด นางเลิ้ง ฯลฯ

เซียนจั๊ว แปดริ้ว เสียชีวิตหลัง เซียนเง็ก อ่างทอง ไม่นานนัก โดยตั้งศพสวดพระอภิธรรมอยู่ย่านลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี โดยมีศิษย์รุ่นน้อง เป้า ศิษย์ฉ่อย คอยช่วยเหลือในด้านงานศพ

เซียนจั๊ว แปดริ้ว
เซียนจั๊ว แปดริ้ว

ต้นตำรับลูกสตัน เก๊า แปดริ้ว

เซียนเก๊า แปดริ้ว ถือเป็นเซียนรุ่นราวคราวเดียวกับ เซียนเส็งและเซียนจั๊ว ซึ่งเป็นคนแปดริ้วด้วยกัน ถ้าเทียบฝีมือ เซียนเก๊า มีภาษีกว่าอีก 2 เซียนดังที่กล่าวนามเพราะ เซียนเก๊า เป็นเจ้าของต้นตำรับ ลูกสตัน คือการจรดคิวกลางลูกคิวบอลแล้วออกแรงกระแทก เพื่อไม่ให้ขาวเดินไปไกล โดยสไตล์การเล่นวิธีนี้ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนจนกระทั่ง เซียนเก๊า นำออกมาเผยแพร่ ทุกคนต่างก็เล่นกันได้หมดและทำกันได้ดีทุกคน เซียนเก๊า ในยุคโด่งดังไม่ได้เก่งเรื่องสนุกเกอร์แต่มีความชำนาญในการ เล่นผีจับเบอร์ ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่นิยมมาก เคยปะทะกับ เซียนเขียว บางกอกน้อย 2 วัน 3 คืน กินกันไม่ลง

เซียนเก๊า แปดริ้ว ก็เหมือนกับ เซียนเส็ง ที่ตกเป็นทาสยาเสพติดตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้บุคคลิกและการเล่นสนุกเกอร์ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ในระยะหลังๆ แม้จะเข้ามาปักหลักหากินในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ค่อยได้ออกอาวุธสู้กับใคร ส่วนใหญ่จะเดินสายรับเป็นผู้ดูแลโต๊ะสนุกเกอร์ทำรายได้ให้กับเจ้าของกิจการ เซียเก๊า เสียชีวิตในวัย 60 ปีต้นๆ เช่นกันด้วยโรครุมเร้าเช่นเดียวกับเพื่อนรัก เส็ง แปดริ้ว ซึ่งหากวิญญาณของทั้งคู่รับรู้คงจะบอกใครต่อใคร

เรื่องยาเสพติดจงหนีให้ห่างอย่ายุ่งกับมัน

 

ผมนำเรื่องราวของอดีตเซียนดังหลายคนมาบอกกล่าวก็เพื่อให้หลายท่านได้จดจำถึง สไตล์การเล่นของแต่ละเซียน และการดำเนินชีวิตแต่ละคนเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ หากหลงเดินทางผิด ชีวิตก็ตกอับ แต่หากเดินถูกทางจะช่วยสร้างชื่อเสียงสู่ วงศ์ตระกูล จะเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวโลกอย่าง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จัก ประเทศไทย และเซียนดับที่นำมาบอกเล่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งในอีกหลายสิบเซียนที่ไม่อาจเอ่ยถึงทุกคนอาทิ เซียนรุ่นหลังอย่าง เล็ก ป่าตอง, เจี่ย สระน้ำ, อ๊อด นางเลิ้ง, โต้ง กันอริ, “จอมไขว้หลัง” เทพ อนุชา, พีร์ สุราษฏร์, เล็ก จิ้งจก, สายันต์ เดือนเด่น, สนั่น เมมเบอร์, พีร์ สุราษฏร์, โชค ภูเก็ต, บัติ หัวตะเข้ รวมถึงเซียนรุ่นเดอะ เปี๊ยก พ่อค้าไทย พวกเขาเหล่านี้ไม่รู้ไปเกิดใหม่หรือยัง?

 

คิวทอง

 

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558