ที่มาของ “คิวทอง”

1 ธ.ค. 60

32 ปีที่นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรกและฉบับเดียวของไทยที่ชื่อ คิวทอง ได้ออกสู่ตลาดเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 นับจากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 32 ปี โดยเสนอข่าวและสาระแก่คนในวงการ สอยคิว โดยตรง

ที่มาของหนังสือ คิวทอง ที่เกิดขึ้นในหน้ากีฬาหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” เมื่อปี 2527 ก็เพราะหัวหน้าข่าวกีฬายุค ศักดา รัตนสุบรรณ ได้เปิดคอลัมน์ “นินทาเซียน” ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ นำเสนอสัปดาห์ละ 3 วันเพื่อปลุกกระแสคนไทยให้หันมาเห็นความสำคัญของสนุกเกอร์ เพื่อลบภาพพจน์การพนันที่ ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเป็นเกมของ พวกกุ๊ย จึงพยายามทุกวิถีทางไม่ให้ลูก ๆ เข้าโต๊ะสนุกเกอร์ โดยระบุเป็น แหล่งอโคจร เด็กเล็กไม่สมควรเหยียบ การเปิดคอลัมน์ “นินทาเซียน” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยุคนั้นประสบปัญหามากมาย เพราะไม่ถูกใจ ผู้ปกครอง ถึงขั้นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” คุณประชา เหตระกูล ได้เรียกศักดาไปต่อว่ากรณีเปิดคอลัมน์สนุกเกอร์ ที่มีผู้ปกครองร้องเรียนมาหลายต่อหลายราย โดยให้ หัวหน้าข่าวกีฬา รับผิดชอบ หากเกิดเรื่องราวที่ไม่ดีหรือมีการถูกฟ้อง

แต่บุญของคนในวงการที่เกิด “เด็กอัจฉริยะ” ต๋อง ศิษย์ฉ่อย มาทันเวลา และช่วยลบภาพพจน์ไม่ดีของสนุกเกอร์ออกไปโดยสิ้นเชิง และในปี 2528 การกีฬาแห่งประเทศไทย ในสมัย ดร.สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์ เป็นผู้ว่าฯ กกท. ได้ประกาศให้สนุกเกอร์เป็น 1 ใน 40 กว่าชนิดกีฬา พร้อมกันนี้ พ.อ.อนุ รมยานนท์ เลขาคณะกรรมการโอลิมปิกและ พ.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ 2 คีย์แมนสำคัญในแวดวงกีฬา ได้ผลักดันสนุกเกอร์เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2530 ตามคำขอของ ศักดา รัตนสุบรรณ โดยหนนั้น ไทย ได้ 4 เหรียญทอง ทั้งสนุกเกอร์และพูล เพราะพูลเล่นกันบนโต๊ะสนุกเกอร์ (ไม่ใช่โต๊ะพูล) เนื่องจากเพิ่งจัดแข่งหนแรก อุปกรณ์โต๊ะพูลจึงไม่พร้อม

นอกจากสนุกเกอร์จะถูกบรรจุเป็นกีฬาเต็มตัวเมื่อปี 2528 พอปี 2541 ไทย เป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์ ยังได้นำกีฬา สนุกเกอร์-บิลเลียด-พูล เข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาของชาวเอเชียเป็นครั้งแรกและแม้ ทีมสอยคิว จะไม่ได้เหรียญทองหนแรก แต่ถือเป็นความสำเร็จของสมาคมฯ ที่มี ชาติเอเชีย ส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขันกว่า 30 ชาติ โดยลงเอยที่ มาร์โก้ ฟู นักสอยคิวจากฮ่องกงที่เพิ่งจะขึ้นเล่นอาชีพได้ เหรียญทอง กลับเกาะฮ่องกง

ผมนำความเป็นมาของสนุกเกอร์มาบอกกล่าว เพราะอดย้อนอดีตเมื่อครั้ง บรรดาผู้ปกครอง ต่างขยะแขยงไม่ยอมให้ลูกหลานย่างกรายสู่โต๊ะบิลเลียด แต่ปัจจุบัน สนุกเกอร์ กลายเป็นกีฬายอดฮิตที่มีคนเล่นกันทั่วประเทศพร้อมกับมี ผู้ชมการถ่ายทอดสดทางทีวี.อีกจำนวนมาก รวมถึง บรรดาผู้ปกครอง ที่เคยแอนตี้ไม่ยอมให้ลูก ๆ เข้าไปตามโต๊ะสนุกเกอร์สมัยก่อน ต่างหันมาสนับสนุนให้ ลูกหลาน จับคิวเพื่อหวังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติและวงศ์ตระกูลเหมือน ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่จุดประกายขึ้นมา จึงถือเป็นโชคที่ สวรรค์มีตา ทำให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของ กีฬาสอยคิว

ผู้ปกครองหลายคนได้ทุ่มเทและเสียเงินทองไปไม่น้อย ในการส่งเสริมลูกให้โด่งดังในกีฬาแขนงนี้ ยกตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจนก็ครอบครัว ถิรพงศ์ไพบูลย์ ที่ทุ่มเงินไม่น้อยในการให้ ธนวัฒน์ หรือ แมน นครปฐม เอาดีทางกีฬาแขนงนี้ ถึงกับยอมให้ลูกพักการเรียน (ชั่วคราว) เพื่อฝึกฝนสนุกเกอร์จริงจัง จนกระทั่ง แมน ประสบความสำเร็จ ติดทีมชาติและสามารถก้าวขึ้นเป็นแชมป์เยาวชนโลกและได้เล่น อาชีพ ในช่วงเวลาถัดมา ยังมีผู้ปกครองอีกหลายท่านที่สนับสนุนลูก ๆ อย่างจริงจัง โดยพามาแข่งขันในการคัดเลือกรายการที่สมาคมฯ จัดขึ้น จนปัจจุบันเรามีนักสนุกเกอร์ระดับเยาวชนมากมาย ซึ่งทุกคนมีฝีมือที่สู้กับชาวโลกเพียงแต่ รอโอกาส เท่านั้น และผลจากที่มี เด็กไทยเก่งขึ้น เป็นเพราะได้รับ แรงสนับสนุนจากคนเป็นผู้ปกครอง ซึ่งผมนำเรื่องราวในอดีตมาบอกกล่าวก็เพื่อให้เห็นภาพ สนุกเกอร์ในอดีตกับปัจจุบันมันต่างกันราว ฟ้ากับดิน หากทุกคนช่วยกันสนับสนุน

คงมีสักวันที่คนไทยจะดังไปทั่วโลก

 

ศักดา รัตนสุบรรณ

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 421)