ไปให้สุดแล้วอย่าหยุดจนกว่าจะถึงเส้นชัย

27 ก.ย. 61

นักกีฬาทุกชนิดรวมถึงนักกีฬาสนุกเกอร์ทุก ๆ คนนั้น ปรารถนาสิ่งเดียวกันคือ ชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้ และรางวัลชนะเลิศในบั้นปลายของการแข่งขัน ทว่าเมื่อมีผู้ชนะก็ย่อมมีผู้แพ้เป็นสัจธรรมในการแข่งขันที่ลงขับเคี่ยวกัน ผู้ชนะบางคนไม่ยอมหยุดที่จะฝึกฝนตัวเองเพื่อจะให้เก่งและก้าวแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ฝีมือที่เก่งอยู่แล้วนั้นให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก เพื่อจะรักษาคำว่าแชมป์ในแต่ละรายการ ให้อยู่กับตัวเขาเองไปให้นานที่สุด ในทางกลับกันผู้แพ้ก็ต้องพยายามลับฝีมือฝึกฝน ให้คำว่าผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะให้ได้ในการแข่งขันคราวต่อไป

แต่เชื่อหรือไม่ครับ ผู้แพ้หลาย ๆ คน ที่เป็นนักกีฬาฝีมือดีนั้น กลับท้อแท้และเลือกที่จะหยุดพัฒนาฝีมือตัวเองซะอย่างนั้น ด้วยเหตุผลที่คล้าย ๆ กันคือ ฝึกไปเท่าไหร่ก็ไม่ชนะ หรือ ออกตัวว่าตัวเองนั้นไม่มีพรสวรรค์สู้คนนั้นคนนี้ไม่ได้หรอก ซึ่งถูกแค่ครึ่งเดียวครับ นักสนุกเกอร์ระดับโลกทุก ๆ คน เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแพ้มากหรือแพ้น้อย แพ้แบบย่อยยับ ถ้าเป็นภาษาตลาดบ้านเราก็เรียกว่า หมดรูสู้ มือแม่นระดับโลกเคยโดนมาหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยที่จะท้อแท้ จะพูดเสมอว่าเค้าซ้อมมาไม่พอหรือคู่ต่อสู้เล่นได้ดีกว่า และในการแข่งขันในครั้งหน้าเค้าต้องเอาชนะได้อย่างแน่นอน เป็นการสร้างความฮึกเหิมให้กับตัวเอง และบั่นทอนความมั่นใจของคู่ต่อสู้ในครั้งต่อไปที่จะโคจรมาปะทะกัน ซึ่งบทสัมภาษณ์ท้ายเกม มือระดับโลกจะกล่าวกับสื่อแบบนี้เหมือนกันหมด ส่วนเรื่องพรสวรรค์ฟ้าประทานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าไม่มีกันทุกคน แต่มีพรสวรรค์แล้วไม่ต่อยอดหรือพัฒนาไปให้สุดทางแล้วก็ยากที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการ ตัวอย่างมีให้เห็นหลายคน เช่น “ไอ้แก้มแดง” สตีเฟ่น ลี นักสอยคิวร่างอวบชาวอังกฤษ ที่การออกคิวและลูกแม่นที่ใคร ๆ เห็นต้องร้องอื้อหือ ว่านี่คือนักสนุกเกอร์ที่ได้รับของขวัญจากเบื้องบนขนานแท้ แต่กลับหลงทางเข้าสู่วงการพนัน ทำให้ชื่อเสียงของตัวเองมัวหมอง

“มัจจุราชผมทอง” สตีเฟ่น เฮนดรี้ อดีดแชมป์โลกไร้เทียมทานในยุค 90 เมื่อลงแข่งแพ้ใครแล้วเค้าจะลืมความผิดหวังจากการแข่งขันในเกมนั้นทันที และนำสาเหตุที่ปราชัยกลับมาแก้ไข มาฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแชมป์โลกชาวสกอตแลนด์คนนี้ เกลียดความพ่ายแพ้เอามาก ๆ ทำให้เป็นแรงผลักดันในการฝึกฝนและทุ่มเทในการฟิตซ้อมอย่างมาก โดยเฮนดรี้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การที่เขาสามารถคว้าแชมป์ได้อย่างมากมายในช่วงตลอดระยะเวลาที่ลงกรำศึกนั้น มาจากพื้นฐานที่เกลียดความพ่ายแพ้เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อได้มาลงแข่งเจอกับคนที่ฝีมือเหนือกว่าหรือใกล้เคียงกัน แล้วเล่นแบบออกเบียด ทำให้เขายิ่งมุมานะที่จะเล่นให้เหนือกว่า เพื่อหลีกหนีความพ่ายแพ้ เป็นการจุดไฟในตัวเองให้กระหายชัยชนะอยู่เสมอนั่นเอง

 

แต่เมื่อหันมองย้อนกลับมาที่มือสมัครเล่น หรือมืออาชีพจากไทยแลนด์แดนสยาม ในขณะนี้ที่วงการสนุกเกอร์กำลังกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งนั้น นักสอยคิวของเราจำนวนไม่น้อยเมื่อลงแข่งขันแล้วพ่ายแพ้ติด ๆ กัน หลาย ๆ แมตช์ มันกลับกลายเป็นความเบื่อหน่ายที่พอกพูนขึ้นมา พาลอยากจะเลิกซ้อมหรือเลิกเล่นไปดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอารมณ์ชั่ววูบหรือไม่ แต่เชื่อได้เลยว่าที่บอกว่าจะเลิกนั้น เกิดจากการแพ้คู่ต่อสู้ เมื่อเกิดขึ้นติด ๆ กัน ก็ไม่อยากที่จะเล่นจะซ้อมอีกต่อไปนั่นเอง แล้วจึงนำเอาตัวเองไปเปรียบเปรยกับคนที่เหนือกว่า ว่าบางคนนั้นแทบจะไม่ได้ฝึกซ้อมเลย แต่ทำไมกลับออกคิวได้ดีแบบสุด ๆ แทงไม้เดียวเกือบขาดแทบจะทุกเฟรม แต่ตัวเองซ้อมหามรุ่งหามค่ำเลือดตาแทบกระเด็น กลับเล่นไม่ได้เอาอ่าว ผิดฟอร์มที่เคยซ้อมมาเสียดิบดี

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ซึ่งมันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปธรรมที่ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ตัวเล็ก สำโรง ที่เคยออกคิวเพี้ยนไปมากจนต้องให้ “โค้ชต่าย” ต่าย พิจิตร มาปรับสะพานมือให้ใหม่ จนออกคิวได้ดีเหมือนเดิม รมย์ สุรินทร์ เจ้าของฉายาอมตะ “ก้มเป็นลง” ก็เคยมีปัญหาชีวิตจนออกคิวผิดเพี้ยนไปเยอะ แต่ก็สะสางปัญหาเหล่านั้นกลับมาแทงได้ดีอีกครั้งหนึ่งอย่างผิดหูผิดตา นักสอยคิวต่างประเทศขวัญใจเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง รอนนี่ โอซุลลิแวน ก็เคยต้องรับการบำบัดจากจิตแพทย์มาแล้ว กับอาการซึมเศร้าและโรคเครียดอย่างรุนแรง จนประกาศเว้นวรรคการสอยคิว ไม่รวมการประกาศอยากแขวนคิวอยู่เนือง ๆ ในทุก ๆ ปี แต่ทว่าก็ไม่เคยหยุดฝึกซ้อมแต่อย่างใด เมื่อกลับมาลงเล่นก็ต่อยอดพรสวรรค์ที่มีให้คว้าแชมป์ได้ต่อเนื่องทุก ๆ ฤดูกาล

 

ซึ่งอยากให้นักกีฬาทุกคนมองว่า การแพ้ชนะเป็นสัจธรรมของการแข่งขัน ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้แต่อย่างใด แต่เมื่อเราแพ้ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นรอง แต่ก็ต้องหาทางกลับมาเอาชนะให้ได้ ในเมื่อเราต้องการที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางสายนี้ เพราะการแข่งขันกีฬานั้นผู้ชมจะจดจำผู้ที่เป็นฝ่ายกุมชัยชนะไว้ได้ ส่วนใครที่เป็นรองก็จะเป็นที่กล่าวขวัญในช่วงข้ามคืน แล้วก็จะค่อย ๆ จางหายไปจากความทรงจำ ลองย้อนกลับไปดูไหมครับว่า เราจำแชมป์สนุกเกอร์โลกได้เกือบจะทุกสมัยถ้าย้อนหลังไปห้าหกปี แต่กลับจำรองแชมป์โลกได้ไม่ครบทุกคน เพราะเราจะติดหูติดตากับฟอร์มการเล่นที่สุดยอด หรือการเอาตัวรอดของแชมป์โลกในปีนั้น ๆ

ดังนั้นเมื่อเราต้องการจะประสบความสำเร็จในกีฬาสนุกเกอร์ ก็ต้องมองไปข้างหน้าว่า ถ้าเราเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา เราจะพัฒนาฝีมืออย่างไรให้รุดหน้ากว่าที่เป็นอยู่ อาจจะปรับเปลี่ยนการซ้อมแบบเดิม ๆ ให้เป็นแบบใหม่ โดยศึกษาจากนักกีฬาอาชีพระดับโลก หรือสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นให้เกิดฟีลลิ่งในการออกคิวให้คมมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าแพ้แล้วอย่ามองว่าเราแพ้เพราะสู้ไม่ได้ แต่ให้มองว่าเราฟิตซ้อมมาไม่เพียงพอ

เพราะถ้าคิดแบบนี้ก็เท่ากับว่าเราชะลอเครื่องเพื่อที่จะหยุด ก่อนจะถึงเส้นชัยที่เราคาดหวังเอาไว้นั่นเอง

รีสตาร์ท

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 430)