กฏ-กติกา กีฬาบิลเลียดของสมาคมกีฬาบิลเลียด และสนุกเกอร์อาชีพโลก WPBSA


หมวดที่ 2 - คำนิยาม (Definitions)

1. เกม (Game)

“เกม” คือจำนวนเฟรมที่ตกลงกัน หรือกำหนดให้เล่น จากการเริ่มเล่นจนกระทั่งจบเกม โดย

  • เล่นจนถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้
  • ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เล่นจนถึงแต้มที่กำหนดไว้
  • ถูกตัดสินโดยผู้ตัดสิน ภายใต้ หมวดที่ 4 ข้อ 2

2. แมตช์ (Match)

“แมตช์” คือ จำนวน “เกม” ที่ตกลงกัน หรือกำหนดไว้ให้เล่น

3. ลูกต่าง ๆ (Balls)

  • “ลูกขาว” และ “ลูกเหลือง” เป็นลูกที่ใช้ในการแทงของแต่ละฝ่าย
  • ในกรณีที่ผู้เล่นใช้ “ลูกขาว” เป็นลูกแทง “ลูกเหลือง” และ “ลูกแดง” จะเป็น “ลูกเป้า”
  • ผู้เล่นที่ใช้ “ลูกเหลือง” เป็นลูกแทง “ลูกขาว” และ “ลูกแดง” จะเป็น “ลูกเป้า”

4. การเสี่ยงทาย (Stringing)

การเสี่ยงทายเพื่อเปิดเกม ผู้เล่นทั้งสองจะตั้ง “ลูกคิวบอล” ของตนลงบนตำแหน่งซ้ายและขวาของ “ครึ่งวงกลม” บนเส้นเมือง แล้วแทงลูกจากจุดนั้นไปกระทบคุชชั่นบน และให้ลูกวิ่งกลับมาหาคุชชั่นล่าง ลูกของผู้ใดหยุดใกล้คุชชั่นล่างมากที่สุดถือเป็นผู้ชนะ มีสิทธิ์เป็นผู้เลือก “ลูกคิวบอล” และกำหนดให้ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดเป็นผู้แทงเปิด “เกม” ได้

5. ผู้แทง (Striker)

ผู้ที่กำลังจะเข้าเล่น หรือกำลังเล่นอยู่ จะเป็น “ผู้แทง” และจะยังเป็น “ผู้แทง” อยู่จนกว่าผู้ตัดสินจะเห็นว่า เขาได้เดินออกจากโต๊ะไปเมื่อจบเที่ยวแทงแล้ว

6. การแทง (Stroke)

  • การแทงเริ่มขึ้นเมื่อ “ผู้แทง” แทงถูก “ลูกคิวบอล” ด้วยส่วนหัวของคิว
  • การแทงที่ถูกต้อง ต้องไม่มีการกระทำผิดกติกา
  • การแทงจะไม่สมบูรณ์ จนกว่าลูกทุกลูกจะหยุดนิ่ง
  • การแทงอาจจะเป็นการแทง “โดยทางตรง” หรือ “โดยทางอ้อม” ดังนี้
    • การแทง “โดยทางตรง” หมายถึงการแทง “ลูกคิวบอล” ไปกระทบ “ลูกเป้า” ก่อนกระทบคุชชั่น
    • การแทง “โดยทางอ้อม” หมายถึงการแทง “ลูกคิวบอล” ไปกระทบคุชชั่นหนึ่งครั้ง หรือมากกว่า ก่อนที่จะมากระทบ “ลูกเป้า”

7. การตบหลัง (Pot)

“การตบหลัง” จะเกิดขึ้นเมื่อ “ลูกเป้า” ถูกกระทบโดยลูกอื่น และลงหลุมไปโดยไม่ผิดกติกา เรียกว่าเป็น “การตบหลัง” หรือ “Winning Hazards”

8. การแทงเปลี่ยน (In-off)

“การแทงเปลี่ยน” จะเกิดขึ้นเมื่อ “ลูกคิวบอล” กระทบ “ลูกเป้า” แล้ว “ลูกคิวบอล” วิ่งลงหลุมไปโดยไม่ผิดกติกา หาก “ลูกคิวบอล” กระทบ “ลูกเป้า” ทั้งสองลูก ให้ถือว่า “การแทงปลี่ยน” นั้นเกิดจากการกระทบ “ลูกเป้า” ลูกแรก “การแทงเปลี่ยน” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Losing Hazards”

9. การทำ Hazard

“การทำ Hazard” คือการทำคะแนนโดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำ “แคนนอน” (Cannon) ดังนี้

  • ตบหลังลูกเดียว
  • การแทงเปลี่ยน
  • ตบหลัง 2 ลูก
  • ตบหลังลูกเดียวแล้วเปลี่ยน
  • ตบหลัง 2 ลูกแล้วเปลี่ยน

10. การแทงแคนนอน (Cannon)

“ลูกแคนนอน” จะเกิดขึ้นเมื่อ “ลูกคิวบอล” ไปกระทบ “ลูกเป้า” ทั้งสองลูกโดยไม่ผิดกติกา ในการแทง 1 ครั้ง

11. การทำเบรค (Break)

“การทำเบรค” คือจำนวนคะแนนที่ผู้เล่นคนหนึ่งทำได้อย่างต่อเนื่องในเที่ยวแทงเดียวกัน

12. ลูกในมือ (In Hand)

  • “ลูกคิวบอล” จะเป็น “ลูกในมือ” ต่อเมื่อ
    • ก่อนการเริ่มต้นของทุก ๆ เกม
    • ลงหลุมไป หรือ
    • ตกจากโต๊ะ
  • เป็น “ลูกในมือ” จนกว่า
    • จะมีการเล่นอย่างถูกต้องจาก “ลูกในมือ” หรือ
    • มีการทำฟาล์วขณะลูกอยู่บนโต๊ะ
    • มีการนำกลับมาตั้งจุดภายใต้ หมวดที่ 3 ข้อ 10.1 และ 15.3 (ii)
  • ผู้เล่นจะเล่น “ลูกในมือ” ได้ เมื่อ “ลูกคิวบอล” อยู่ในลักษณะที่กล่าวมาข้างบนนี้

13. ลูกที่อยู่ในการเล่น (Ball In Play)

  • “ลูกคิวบอล” ของผู้เล่น จะเป็น “ลูกที่อยู่ในการเล่น” เมื่อไม่ได้อยู่ในสถานะเป็น “ลูกในมือ”
  • “ลูกแดง” จะเป็น “ลูกที่อยู่ในการเล่น” เมื่อถูกนำมาตั้งที่จุด และจะคงสภาพนั้นไปจนกว่าจะถูกตบลงหลุม หรือตกออกจากโต๊ะ

14. ลูกในเส้นเมือง (Ball In Balk)

ลูกที่อยู่บนเส้นเมือง หรืออยู่ระหว่างเส้นเมืองกับคุชชิ่งล่าง จะถือเป็น “ลูกในเส้นเมือง”

15. ลูกตกโต๊ะ (Force Off The Table)

“ลูกตกโต๊ะ” คือลูกที่ไม่ได้หยุดอยู่บนโต๊ะ หรือถูกตบลงหลุมไป หรือไม่ก็ถูกหยิบขึ้นมาโดย “ผู้แทง” ในขณะที่เกมกำลังดำเนินอยู่

16. การแทงมิส (Miss)

การ “แทงมิส” จะเกิดขึ้นเมื่อ “ผู้แทง” แทงไม่ถูก “ลูกเป้า” ทั้งสองลูก

17. การตบลูกคิวบอลของตนเอง (Running A Coup)

คือการที่ “ผู้แทง” เจตนาแทง “ลูกคิวบอล” ของตนเองให้ลงหลุม เมื่อได้เล่น “ลูกในมือ” เมื่อไม่มีลูกหนึ่งลูกใดให้เล่นได้

18. การทำฟาล์ว (Foul)

“การทำฟาล์ว” คือการทำผิดกติกาต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในกติกานี้

19. จุดไม่ว่าง (Spot Occupied)

“จุดไม่ว่าง” คือจุดที่มีลูกอื่นครองอยู่ ไม่สามารถตั้งลูกบนจุดนั้นได้โดยไม่สัมผัสกับลูกอื่น

20. การแทงไม้ยาว (Push Stroke)

“ไม้ยาว” เกิดขึ้นเมื่อหัวคิวยังสัมผัสลูกอื่นอยู่ -

  • ภายหลังจาก “ลูกคิวบอล” ที่ถูกแทงเลื่อนไปข้างหน้าแล้ว หรือ
  • เมื่อ “ลูกคิวบอล” มีการสัมผัสกับ “ลูกเป้า” ในขณะที่อยู่ใกล้กันมากจนเกือบเป็น “ลูกติด” แต่จะไม่ถือว่าเป็น “ไม้ยาว” หาก “ลูกคิวบอล” สัมผัสแต่เพียงเหลี่ยมบางของ “ลูกเป้า”

21. การแทงลูกกระโดด (Jump Shot)

“ลูกกระโดด” จะเกิดขึ้นเมื่อ “ลูกคิวบอล” ถูกแทงข้าม “ลูกเป้า” ไม่ว่าจะกระทบลูกหรือไม่ ยกเว้น

  • เมื่อ “ลูกคิวบอล” ถูกแทงกระทบ “ลูกเป้า” แล้วไปกระโดดข้ามลูกอื่น
  • เมื่อ “ลูกคิวบอล” ถูกแทงกระโดดแต่ยังไม่ได้ข้าม “ลูกเป้า” ไปตกยังฝั่งตรงข้ามของทิศทางที่แทงออกไป
  • เมื่อ “ลูกคิวบอล” มีการกระทบชิ่ง หรือลูกหนึ่งลูกใดบนโต๊ะ ก่อนที่จะไปกระโดดข้าม “ลูกเป้า” ในที่สุด