สนุกเกอร์ได้เข้าซีเกมส์ ใครเป็นใคร..เป็นมาอย่างไร เปิดโปงตรงนี้

28 ธ.ค. 61

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2529 ก็นับว่าเป็นวันที่วงการสนุกเกอร์จะต้องจดจำเอาไว้ เพราะเป็นวันที่ “มนตรีสหพันธ์ซีเกมส์” ลงมติให้ สนุกเกอร์ เป็นกีฬาชิงเหรียญทองประเภทหนึ่งในการแข่งขัน ซีเกมส์ โดยกำหนดขึ้นให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกในซีเกมส์ครั้งที่ 14 ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 9–20 กันยายน 2530

บุคคลที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมมนตรีซีเกมส์ และช่วยผลักดันให้สนุกเกอร์เข้าซีเกมส์ครั้งนี้คือ ..

พันเอกจารึก อารีราชการัณย์

ดร.ณัฐ อินทรปาน และ

นายสันติภาพ เตชะวณิช

คงจำกันได้ว่าทาง “สมาคมสนุกเกอร์” โดยนายกำพล เตชะหรูวิจิตร ได้เคยเสนอให้สนุกเกอร์เป็นกีฬา “สาธิต” ในซีเกมส์ครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 และในตอนแรกก็ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 13 แต่ต่อมาก็ต้องถูกคัดค้านจากมนตรีสหพันธ์ซีเกมส์ เพราะการจะจัดสนุกเกอร์เป็นกีฬาสาธิตนั้น ไม่เคยถูกเสนอเข้าที่ประชุมมนตรีสหพันธ์ซีเกมส์เลย

 

ซึ่งเป็นการผิดข้อบังคับ เพราะการจะจัดกีฬาอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ จะต้องผ่านการพิจารณาของมนตรีสหพันธ์ซีเกมส์ก่อน

ดังนั้นความหวังของคนในวงการสนุกเกอร์ที่จะเห็นกีฬาของพวกเราในซีเกมส์จึงตกไป

          อย่างไรก็ตาม ความพยายามก็ยังไม่สิ้นสุดเมื่อ นายศักดา รัตนสุบรรณ ได้เป็นตัวแทนของคนในวงการสนุกเกอร์เข้าติดต่อกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยผลักดันสนุกเกอร์เข้าไปเป็นกีฬาแข่งขันในซีเกมส์ให้ได้

นับจากย่อหน้านี้ เป็นการบอกเล่าโดยนายสันติภาพ เตชะวณิช รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และมนตรีสหพันธ์ซีเกมส์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมประชุมสหพันธ์ซีเกมส์ ณ โรงแรมจากาตาร์ฮิลตัน ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2529

นายสันติภาพกล่าวว่า “ตอนแรกที่คุณศักดา เสนอมา เราก็รับไว้พิจารณาก่อน เพราะเป็นกีฬาใหม่และยังไม่ได้อยู่ในการรับรองของโอลิมปิค และอีกอย่างหนึ่งยังรู้สึกว่าสนุกเกอร์ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างเกมพนันกับกีฬา แต่หลังจากที่เรารู้ข่าวว่าทางอินโดนีเซียพยายามจะผลักดันกีฬาใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงการได้เหรียญทองเป็นหลัก เมื่อเราคิดว่าเจ้าภาพทำได้ เราก็ควรเสนออย่างอื่นได้เช่นกัน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่จะผลักดันสนุกเกอร์เข้าซีเกมส์”

“เมื่อเราดูจากผลงานและกิจกรรมของสมาคมสนุกเกอร์ ตลอดจนการแข่งขันสนุกเกอร์รายการต่าง ๆ เราก็คิดว่าเด็กของเรามีความหวังในซีเกมส์แน่นอน จึงได้เรียนท่านประธานคณะกรรมการโอลิมปิค คือ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งท่านก็ยินดีสนับสนุนให้มีการแข่งขันสนุกเกอร์เข้าซีเกมส์”

“ดังนั้นทางเราจึงได้ติดต่อผ่านไปยังคุณศักดา เพื่อให้ทางสมาคมสนุกเกอร์เป็นแกนกลางส่งหนังสือติดต่อไปยังประเทศสมาชิก ขอให้สมาคมสนุกเกอร์ของประเทศอื่น ๆ ในภาคีซีเกมส์ ทำการติดต่อกับคณะกรรมการโอลิมปิคชาติของตน เพื่อให้คณะกรรมการโอลิมปิคของทุกชาติที่สนับสนุนสนุกเกอร์เข้าซีเกมส์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเราได้หนังสือนี้มาอยู่ในมือของเรา เพื่อนำไปยืนยันให้ที่ประชุมมนตรีซีเกมส์ทราบ แต่เราก็ทราบเพียงข่าวว่ามีมาเลเซียกับสิงคโปร์ ให้การสนับสนุน แต่เราไม่ได้เห็นหนังสือยืนยันจึงทำให้มีน้ำหนักไม่พอ”

“เมื่อเป็นอย่างนี้เราจึงนัดหมายให้ คุณศักดา เชิญกรรมการสมาคมสนุกเกอร์มาให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสนุกเกอร์แก่เรา เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมมนตรีซีเกมส์ และเราก็สรุปได้ว่า การจัดแข่งขันสนุกเกอร์ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย และสถานที่แข่งขันก็จัดขึ้นมาได้ง่าย และนักกีฬาทีมหนึ่งก็จะมีเพียง 4 คน กับเจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งไม่ต้องใช้เงินมากเช่นกันในการส่งนักกีฬาแข่งขัน และจุดนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของสนุกเกอร์ที่จะนำไปพูดโน้มน้าวกับสมาชิกชาติอื่น ๆ รวมทั้งอินโดนีเซียซึ่งจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 14 ให้เห็นด้วยเช่นเดียวกับเรา”

“อีกอย่างหนึ่งเราได้มองเข้าไปถึงคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ว่าประกอบไปด้วยผู้ใดบ้าง ซึ่งเราทราบว่ามีนายกสมาคมกรีฑาของอินโดนีเซีย คือ นายบ๊อบ ฮัดสัน ซึ่งเป็นลูกเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 14 ซึ่งหากคน ๆ นี้มาให้การสนับสนุนเรา โอกาสที่เราจะทำสำเร็จก็มองเห็นได้ชัด ดังนั้น พันเอกจารึกจึงต้องร่วมเดินทางไปประชุมกับเราด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีความสนิทสนมกับนายฮัดสันเป็นอย่างมาก และเมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณ พลเอกเต็ม หอมเศรษฐี ซึ่งเดิมท่านคือมนตรีซีเกมส์ที่จะต้องไปประชุมครั้งนี้ แต่เมื่อท่านทราบเรื่องราวต่าง ๆ ท่านจึงสั่งให้ พันเอกจารึก ไปแทน”

“เมื่อพวกเราไปถึงอินโดนีเซียวันอาทิตย์ ในวันนั้นพวกเราได้รีบติดต่อกับตัวแทนประเทศต่าง ๆ เพื่อคุยกันไว้ล่วงหน้า เพราะการประชุมจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น จากการคุยกันครั้งนี้ก็ปรากฏว่ามี บรูไน พม่า เขมร ตอบรับจะให้การสนับสนุนเรา แต่ก่อนการประชุมนั้นเองเราได้สอบถามกับทางเลขาธิการจัดการแข่งขันซีเกมส์ของ อินโดนีเซีย คือ นายมูฮัมหมัด เซรากัต ซึ่งนายเซรากัตได้อ้างขึ้นมาก่อนว่า สนุกเกอร์ไม่ได้อยู่ในประเภทกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 14 เพราะเป็นกีฬาที่ชาวอินโดนีเซียไม่นิยม และนายเซรากัต ยังอ้างอีกว่า ถ้าพิจารณาสนุกเกอร์ ก็จะมีหมากรุก กับ บริดจ์ อยากเข้าแข่งขันในซีเกมส์เช่นกัน ซึ่งจะสร้างความลำบากใจให้กับเขา นายเซรากัต จึงขอให้เราพิจารณาอีกทีหนึ่ง”

“จากการคุยกับนายเซรากัต ครั้งนี้ เราจึงเห็นท่าไม่ดี พันเอกจารึก จึงได้ไปเจรจากับ นายฮัดสัน จนกระทั่งในการประชุมซึ่งทางอินโดนีเซียเจ้าภาพได้เสนอประเภทกีฬาสำหรับการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 14 เข้ามาทั้งหมด 25 ประเภท โดยก่อนหน้าที่เราได้ปรึกษากันแล้วกับตัวแทนประเทศอื่น ๆ ว่าจะให้การรับรองกีฬาทีละประเภท ๆ ซึ่งเรามั่นใจว่า ซอฟท์บอล ที่ทางอินโดนีเซียเสนอมานั้นจะไม่ได้รับการรับรองแน่ และในการประชุมก็เป็นจริงตามนั้น และเมื่อเราเสนอสนุกเกอร์เข้าเป็นกีฬาประเภทหนึ่งในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 14 นายฮัดสัน ได้กล่าวเห็นด้วยและสนับสนุน ทำให้การเสนอของเราจบลงด้วยดีเร็วขึ้น”

ครับ...ขณะนี้สิ่งที่คนในวงการสนุกเกอร์รอไว้ก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว เหลือเวลาอีก 1 ปีเต็ม การแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 14 ก็จะมีขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย เราหวังเหลือเกินว่า นักสนุกเกอร์ของเราจะได้ยืนขึ้นเคารพธงชาติไทยในฐานะผู้ได้รับเหรียญทองของการแข่งขัน

 

โดย...เนาวรัตน์ สงวนกุล

(ตีพิมพ์นิตยสารคิวทอง ปีที่ 2 ฉบับที่ 25 , ประจำเดือน ตุลาคม 2529)