"คิวทอง" เปิดตำนาน 7 แชมป์โลกไทย คนที่ 4 "ศักดิ์ชัย ซิมงาม"

5 ก.พ. 57
ศักดิ์ชัย ซิมงาม ได้แชมป์ประเทศไทย เมื่อปี 2538
ศักดิ์ชัย ซิมงาม ได้แชมป์ประเทศไทย เมื่อปี 2538

ไม่ น่าเชื่อแชมป์สมัครเล่นโลกคนที่ 4 ได้แชมป์ในขณะที่อายุ 43 ปี ถ้าเป็นหมัดมวยก็ต้องจัดอยู่ในประเภท มวยปลาร้า หรือมวยชราภาพ แต่การเล่นสนุกเกอร์อายุเป็นแค่ตัวเลข หากไม่แก่จนหง่อมเหมือน ปู่ตึ๊ก โคราช หรือ (เซียนกลุ้ม) กุ่ม ดาวคะนอง รับรองยังเล่นต่อได้อีกหลายปี ยกตัวอย่าง ต่าย พิจิตร หรือ รมย์ สุรินทร์ แต่ละคนอายุเกินเลข 5 แต่มือไฟฟ้าหรือประเภท วัยจ๊าบ เจอ 2 อาจารย์ที่ว่าครั้งใดเป็นพ่ายแพ้ทุกที จนเด็กรุ่นหลังขนามนาม "เฒ่าสารพัดพิษ" ยิ่งแก่ยิ่งเหนียว

ศักดิ์ชัย ซิมงาม ชื่อจริงตามบัตรประชาชนแต่ฉายาคือ ชัย ลำพูน เกิดเมื่อ 12 มิ.ย. 2495 ปัจจุบันอายุปาเข้าไป 62 กะรัต และเนื่องจากมารดาเป็นคนลำพูน อีกทั้งตอนหนุ่ม ศักดิ์ชัย เข้ารับราชการเป็นตำรวจอยู่ที่จังหวัดนี้ จึงได้ฉายา ชัย ลำพูน แต่ประวัติความเป็นมาของแชมป์โลกรายนี้ จริงๆ แล้วเป็นคนสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เริ่มจับคิวก็ที่โต๊ะสโมสรข้าราชการ ซึ่งโต๊ะต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีแค่ 2 ตัว ศักดิ์ชัย อาศัยซ้อมอยู่ที่นี่และเล่นจนฝีมือเข้าขั้น จึงเริ่มออกเดินสายจังหวัดใกล้เคียง ปราบใครต่อใครจนไม่มีคู่ต่อกร จึงตัดสินใจทิ้งเครื่องแบบเข้ามาขุดทองในเมืองกรุง โดยมุ่งหน้าสู่สนามใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมพวก เสือ สิงห์ กระทิง แรด คือโต๊ะอินทรา ย่านประตูน้ำ ซึ่งมีเซียนมากหน้าหลายตา ตั้งแต่รุ่นเล็กยันรุ่นใหญ่ รุ่นเล็กก็พวก หนุ่ม มหาชัย-ผู้กองมีชัย-สายันต์ แก้วชิงดวง-ชูบั๊ก แซ่เบ๊ ถ้ารุ่นกลางก็มี ฮั่วเซ้ง ปักธงชัย-โก๊ะ อยุธยา-โต้ง กันอริ-อ๊อด เดือนเด่น-เก๊า แปดริ้ว-เก๊า ฟันดำ-กุ่ม ดาวคะนอง ถ้ารุ่นใหญ่สุดมี กิ๊ด นครสวรรค์-ตึ๊ก โคราช-ตา ลพบุรี-เง็ก อ่างทอง-เป้า ศิษย์ฉ่อย-รมย์ สุรินทร์-รินทร์ ระยอง-ดำ ศรีราชา และดาวรุ่งที่พุ่งทาบรัศมีทุกเซียนจนกลายเป็นมือหนึ่งโต๊ะอินทราก็คือ

ไอ้หนุ่มจากเมืองรถม้า ศักดิ์ชัย ซิมงาม

 

ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ที่ 2 จากซ้าย) ได้เหรียญทองในกีฬาแห่งชาติ เมื่อปี 2533
ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ที่ 2 จากซ้าย) ได้เหรียญทองในกีฬาแห่งชาติ เมื่อปี 2533

และหลังจากที่คนอังกฤษแต่หัวใจไทย มอร์ริส เคอร์ ได้ปลุกผีวงการสอยคิวหลังจากไม่มีแข่งขันตั้งแต่ปี 2513 คุณเคอร์ เธอจัดชิงแชมป์ประเทศไทยเมื่อปี 2525 โดยแชมป์ปีนั้นได้แก่ วิเชียร แสงทอง ที่เอาชนะ เซียนตา ลพบุรี ซึ่งการแข่งขันนัดนี้เองที่ทำให้คนรักสนุกเกอร์อย่างจับจิตจับใจอย่าง ศักดา รัตนสุบรรณ หวนกลับคืนวงการอีกครั้ง หลังจาก เซียนเง็ก อ่างทอง และ เซียนเอ็ง บ้านใหม่ ได้ขอให้ช่วยเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนลงแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งขณะนั้น ศักดา รัตนสุบรรณ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์"

เมื่อได้มาเห็นวงการสนุกเกอร์ในยุคหลังนี้ ทำให้ ศักดา มองการณ์ไกล และมั่นใจ นักสอยคิวไทย ฝีมือระดับนี้ต้องสู้กับระดับโลกได้ จึงเปิดคอลัมน์สนุกเกอร์ในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ภายใต้ชื่อ นินทาเซียน ซึ่งเป็นข่าวสังคมทั่วไป โดยเฉพาะเซียนน้อยใหญ่ไปซุ่มที่ไหน ใครเปิดเดลินิวส์จะรู้หมด ถึงขนาดเคยมีอยู่ครั้ง เซียนโก๊ะ อยุธยา ซุ่มไปดักรอเล่นกับ พ่อค้าพลอย ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดจันทบุรี รอนานถึง 3 วันพวกขุดพลอยจึงลงจากเขาและเข้าโต๊ะสนุกเกอร์ซึ่งมีแค่ 2 ตัว เป็นโต๊ะพัดลม หน้าต่างโล่ง ลมโชยผ่านตลอดทั้ง 4 ทิศ เซียนโก๊ะ เริ่มจีบพ่อค้าพลอยจนตกลงจับคิวจะสู้กัน โดยมีเดิมพันติดปลายนวม 500 บาท ซึ่งในยุค 40 ปีเงิน 500 ถือว่ามากพอสมควร ในขณะที่ทั้งคู่จะสู้กัน เจ้าเพื่อนพ่อค้าพลอยดันไปหยิบหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" ขึ้นมาอ่านคอลัมน์ "นินทาเซียน" และเห็นรูป โก๊ะ อยุธยา อยู่ในคอลัมน์ จึงได้รู้ว่า ไอ้ดำสูงโย่งรายนี้คือ เซียนโก๊ะ อยุธยา ดังนั้นเกมการต่อสู้จึงต้องยุติในฉับพลัน เล่นเอา เซียนโก๊ะ บ่นเป็นหมีกินผึ้ง เสียค่าใช้จ่ายเป็นร้อย แถมทนรอถึง 3 คืนดันไม่ได้เล่น เป็นเพราะ เดลินิวส์ นั่นเชียวทำให้เสียแผน

การเปิดคอลัมน์สังคมสนุกเกอร์ในหนังสือพิมพ์ ฉบับยักษ์ และได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนั้น ทำให้วงการสอยคิวตื่นตัวมาก ยิ่งได้เจ้า ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ช่วยสร้างสีสันทำให้ใครต่อใครต่างรู้จักสนุกเกอร์เป็นอย่างดี ซึ่งในเวลาต่อมา ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ก็สร้างชื่อเสียงให้ประเทศดังกระฉ่อนไปทั่วโลก โดยก้าวสู่มืออาชีพและอันดับสูงสุดคือ 3 เป็นรองแค่สตีฟ เดวิส กับ สตีเฟ่น เฮนดรี้ 

สำหรับ ศักดิ์ชัย ซิมงาม หลังจากเป็นมือหนึ่งขึ้นคานอยู่ที่โต๊ะอินทรา ไม่ค่อยจะได้ต่อสู้มากนัก เนื่องจากต้องให้น้ำหนักเพื่อนเซียนด้วยกัน เพราะหากเล่น เท่ากัน ศักดิ์ชัย เหนือทุกเซียน จนกระทั่งมีการแข่งขัน ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย (ครั้งแรก) ที่จัดในเมืองไทย ณ โรงแรมบางกอก ประตูน้ำเมื่อปี 2527 ปรากฏว่า ศักดิ์ชัย คว้าแชมป์คนแรกด้วยการชนะ วิเชียร แสงทอง 8-5 เฟรม แต่ครั้ง 2 ที่ประเทศสิงคโปร์ในปีถัดมา ไปเสียท่าให้ดาวรุ่งฮ่องกง เคนนี่ ก๊อก 5-8 เฟรม

ศักดิ์ชัย ซิมงาม ได้แชมป์ประเทศไทยด้วยการชนะ "ดาวรุ่งฟอร์มสด" เต่า หลังสวน 7-2 เฟรมเมื่อปี 2538 ซึ่งตามระเบียบของสมาคมฯ จะต้องได้สิทธิ์เป็นตัวแทนไปชิงแชมป์สมัครเล่นโลก แต่ในปีนั้น ศักดิ์ชัย อายุปาเข้าไป 43 จึงมีผู้ทักท้วงว่า แก่เกินไป น่าจะเปลี่ยนตัวหาเด็กใหม่ไปแทน แต่เมื่อถูกโต้แย้งด้วยกฏระเบียบที่ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่ปี 2527 ศักดิ์ชัย จึงได้ตั๋วไปชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่ประเทศอังกฤษพร้อมเพื่อนร่วมทีม รมย์ สุรินทร์ และไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง 2 นักกีฬาไทยเข้าสู่รอบ 8 คนโดย รมย์ สุรินทร์ ไปเสียท่าให้ดาวรุ่งอังกฤษ เดวิด เกรย์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นมืออาชีพที่โด่งดัง ส่วนศักดิ์ชัยผ่านคู่ต่อสู้เข้าไปชิงชนะเลิศกับ เดวิด ลิลลี่ ที่เอาชนะ เดวิด เกรย์ ในรอบตัดเชือก ซึ่งผลการต่อสู้ ศักดิ์ชัย ซิมงาม สร้างชื่อให้ไทยด้วยการปราบ ลิลลี่ 11-7

และจากการได้แชมป์โลกในปี 2538 ทำให้ ชัย ลำพูน ได้รับเงินเดือนจากสมาคมฯ เดือนละ 6,000 บาทตลอดชีพ โดยการเสนอของ ศักดา รัตนสุบรรณ เนื่องจากเห็นว่าการเป็นแชมป์โลกไม่ใช่เป็นกันได้ง่ายๆ จึงเสนอให้ เงินอัดฉีด เป็นเงินเดือนตลอดชีวิตเหมือนที่ โอลิมปิก อัดฉีดให้ นักกีฬา ที่ได้เหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ โดยการเห็นพ้องของนายกสมาคมฯ คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ซึ่งถือว่า ศักดิ์ชัย เป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้เงินอัดฉีดเป็นเงินเดือนจาก สมาคมฯ โดยก่อนหน้านี้ทั้ง ต๋อง-หนู-ต่าย ไม่เคยได้รับเงินส่วนนี้ ศักดิ์ชัย รับเงินเดือน เดือนละ 6,000 บาทอยู่ 2 ปี เกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน จึงเจรจากับ สมาคมฯ ขอเงินก้อน ไม่ขอรับเงิน 6,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในที่สุดก็ตกลงจ่ายให้ ศักดิ์ชัย 140,000 บาท ถ้าหากคำนวณให้ดี เงินเดือน 6 พันกับแสนสี่ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็หมด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า ศักดิ์ชัย ต้องการเงินก้อนโดยไม่มองถึงอนาคตอันยาวไกล และจากการที่สมาคมฯ ต้องจ่ายเงินก้อน ทำให้ นายกฯ สินธุ เกิดกังวล หากมีนักกีฬาไปคว้าแชมป์โลกและเรียกร้องขอ เงินก้อน ก็เป็นเรื่องน่าปวดหัว จึงประกาศยกเลิกเงินอัดฉีด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

4 อดีตแชมป์โลก หนู ดาวดึงส์, ศักดิ์ชัย ซิมงาม, ต่าย พิจิตร, ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ถ่ายภาพในวันปีใหม่ เมื่อปี 2539
4 อดีตแชมป์โลก หนู ดาวดึงส์, ศักดิ์ชัย ซิมงาม, ต่าย พิจิตร, ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ถ่ายภาพในวันปีใหม่ เมื่อปี 2539

ศักดิ์ชัย ซิมงาม ยังคงใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่บนผืนสักหลาดด้วยการเป็น ครูฝึกสอนตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงรับจ้างดูแลโต๊ะไปหลายที่ ทั้ง โต๊ะโชคชัย สุขุมวิท 24 โต๊ะยูเนียนทาวเวอร์ โต๊ะชลบุรี ศักดิ์ชัย ไปเป็นผู้จัดการหลายแห่งจนหนล่าสุดปัจจุบันปักหลักอยู่ที่โต๊ะตลาดบางรัก ถนนเจริญกรุง โดยมีหน้าที่ดูแลโต๊ะพร้อมกับได้ฝึกซ้อมไปในตัว แต่ค่าจ้างถูกมากแค่เดือนละ 10,000 บาท จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากจะเรียกว่า แชมป์โลก "ตกอับ" ก็คงไม่น่าเกลียดนัก

ชัย ลำพูน กลับมาคว้าแชมป์ประเทศไทยสมัยที่ 2 เมื่อปี 2540 ที่โรงแรมแม่น้ำ ถนนเจริญกรุง โดยนัดนี้มีการถ่ายทอดสดทาง ทีวี.ช่อง 9 ซึ่งจัดการแข่งขันโดย คิวทอง ปรากฏว่าแฟนสนุกเกอร์ได้ดูและได้ลุ้นกันมันหยด เพราะคู่ชิงคือเจ้าของฉายา "ก้มเป็นลง" รมย์ สุรินทร์ ซึ่งผลปรากฏว่า ศักดิ์ชัย เฉือนชัย เอาชนะไปแบบหืดขึ้นคอ 6-5 เฟรม ได้รับถ้วยจาก "บิ๊กเสือ" พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ซึ่งไปแจกรางวัลด้วยตัวเอง และจากการคว้าแชมป์หนนี้ทำให้ ศักดิ์ชัย ได้สิทธิ์ไปชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่ประเทศนิวซีแลนด์พร้อม เซ้ง ปากน้ำ ซึ่งนักกีฬาไทยสามารถสร้างชื่อให้ทั่วโลกรู้จักอีกหน แม้จะไม่ได้แชมป์โลกกลับมา แต่ เซ้ง ปากน้ำ สามารถทำ แม็กซิมั่มเบรก 147 แต้ม ถือเป็นนักสอยคิวไทยคนที่ 2 ที่ทำแม็กซิมั่มเบรกจากการแข่งขัน โดยคนแรกคือ ป้อม เนาวรัตน์ ทำได้ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2532

หลังจากพลาดแชมป์โลกปี 2540 ศักดิ์ชัย ยังคงลงแข่งขันล่าเงินรางวัลรายการ ไทยแลนด์แรงกิ้ง แต่เนื่องจากถูกคลื่นลูกใหม่โหมกระหน่ำ ทำให้ ชัย ลำพูน เริ่มเห็นสภาพตัวเอง เพราะแพ้บ่อยจนตกชั้นมาอยู่ ดิวิชั่น 2 ช้ำไปกว่านั้นต้องถอยร่นไปเล่น กีฬาแห่งชาติ ทั้งที่อดีตเป็นถึงแชมป์โลก แต่ต้องมาเล่นกีฬาจังหวัด โดย ศักดิ์ชัย รู้ตัวว่าลูกแล่นไม่เหลือ จึงหันมาเล่นบิลเลียด โดยเล่นให้จังหวัดชลบุรีและได้ เหรียญทอง ด้วยการชนะ เสน่ห์ ศรีสะเกษ แต่การได้เหรียญทองหนนี้ ทำให้ ศักดิ์ชัย เศร้าหมองไปนาน เพราะต่อมา การกีฬาแห่งประเทศไทยตรวจพบว่า ศักดิ์ชัย ใช้สารต้องห้ามหรือที่เรียกว่า "ยาโด๊ป" ทำให้ถูกยึดเหรียญพร้อมถูกห้ามลงแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 2 ปี ซึ่งต่อมา ศักดิ์ชัย ได้ทำหนังสือร้องเรียนโดยแจ้งให้ กกท. รับทราบว่าไม่ได้โด๊ป แต่ยอมรับว่ากินยาแก้ไข้ในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งผลจากตัวยาทำให้ตรวจพบว่า มีสารกระตุ้น ศักดิ์ชัย จึงต้องรับกรรมอดลงแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 2 ปี ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของแชมป์สมัครเล่นโลกคนที่ 4 ส่วนคนที่ 5 กว่าจะเกิดต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี ฉบับหน้าคอยพบแชมป์คนที่ 5 อรรถสิทธิ์ มหิทธิ หรือ บิ๊ก สระบุรี นักสนุกเกอร์ที่เคยโด่งดังสุด และเป็นนักสนุกเกอร์ที่เป็นหน้าตาให้วงการสอยคิวโดยจบ ปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (อาร์แบค) จึงลบคำปรามาสที่ว่า

ผู้ดีถือไม้กอล์ฟส่วนพวกกุ๊ยถือไม้คิว

 

“คิวทอง”