อย่าทนทุกข์ทรมาน
4 เม.ย. 61 |
ข่าว การเสียชีวิตของอดีตพระเอกตุ๊กตาทอง อโนเชาว์ ยอดบุตร ที่นอนเป็น “เจ้าชายนิทรา” มากว่า 35 ปีหลังรถจิ๊ปประสบอุบัติเหตุขณะถ่ายภาพยนต์เรื่อง รักกันวันละนิด ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2526 ทำให้ก้านสมองตาย กลายเป็น เจ้าชายนิทรา ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่ง 21 มี.ค. 2561 วิญญาณพระเอกดัง ก็หลุดลอยจากร่างหมดเวรหมดกรรมเพราะ นอนซม ไม่รับรู้เรื่องราวเป็นเวลา 35 ปี ก่อนหน้า นางอำไพ ยอดบุตร ที่อดทนพยายามเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ลูกชายเป็นประจำ นำหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ฟังนำวิทยุมาเปิด พูดคุยกับลูกทุกวัน ดูแลมานานจนได้รับการเชิดชู เป็นแม่แห่งชาติ ในฐานะหญิงแกร่งผู้มีความอดทนทำหน้าที่ผู้ให้กำเนิดถึง 28 ปี แม่วัยเกือบ 90 จึงหนีไปเกิดใหม่เมื่อปี 2555 ทิ้งมรดกล้ำค่าให้ลูกสาวคนโต น.อ. (หญิง) เอื้อมพร ยอดบุตร รับหน้าที่ดูแลต่อไป โดยหมดเงินกับการรักษา 30 ปี หลายสิบล้านบาท โดยไม่มีวี่แวว พระเอกดัง จะลืมตาขึ้นมารับรู้สถานการณ์แต่อย่างใด นี่คือความรักและความผูกพันของ คนในครอบครัว ถึงแม้จะกลายเป็น เจ้าชายนิทรา ชนิดที่ไม่มีโอกาสกลับมารับรู้ ทั้งที่หมอก็ชี้แจงให้ทราบแต่ ผู้เป็นแม่ ก็เพียรพยายามและตั้งความหวัง สักวันสวรรค์คงเมตตา ซึ่งรอแล้วรอเล่า อโนเชาว์ ก็ไม่มีโอกาสรับรู้แต่อย่างใด ผมนำเรื่องนี้มาเขียนเพื่อแฟนคิวทองทุกท่านให้เห็นถึง สัจธรรม และความเป็นจริง สิ่งไหนที่เสียไปไม่อาจเรียกกลับคืนก็จงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อย่าดันทุรังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สร้างความเดือดร้อนให้คนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งตัวผมเองตระหนักดีจึงได้เขียนหนังสือใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ หากเคราะห์ร้ายกรณีเดียวกับ อโนเชาว์ ยอดบุตร จะไม่ยอมให้ หมอเจาะคอ ให้ออกซิเจน เพื่อต่อลมหายใจ หากต้องนอนเป็น เจ้าชายนิทรา โดยไม่รับรู้ สู้ไปเกิดใหม่ซะดีกว่า หาก ตายแล้วเกิด เป็นจริง ใครที่ไม่ทราบว่า คนไข้ สามารถเรียกร้องกรณีที่เกิดเจ็บป่วยมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายออกมายอมรับสภาพของ ผู้ป่วย หากไม่ยินยอมให้แพทย์เจาะคอเพื่อให้มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ โดยไม่มีโอกาสรับรู้หรือกลับมาเหมือนเดิม ย่อมทำได้ โดยแพทย์ก็ไม่ผิดจรรยาแพทย์ เพราะเป็นจุดประสงค์ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายและไม่ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเดือดร้อน ซึ่งถือเป็นการดีที่ญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งที่คนไข้ไม่มีโอกาสลืมตารับรู้แต่อย่างใด การมีกฎหมายฉบับนี้ถือว่าสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และญาติผู้ป่วยก็ไม่ต้องสิ้นเปลือง ซึ่งเปรียบเสมือน เอาเงินที่หามาได้ด้วยหยาดเหงื่อโยนทิ้งน้ำโดยไม่ได้รับอะไรตอบแทน แถมยังยื้อชีวิตไม่ให้ลูกหลานได้ไปเกิดอีกต่างหาก เลยกลายเป็น ทำคุณบูชาโทษ เพียงแค่หวังลม ๆ แล้ง ๆ สักวัน เจ้าชาย-เจ้าหญิง ที่นิทราจะกลับมาลืมตาอีกครั้ง ย้ำอีกทีสำหรับ ผู้ไม่ยอมทนทุกข์ทรมานนอนติดเตียงโดยไม่มีโอกาสลืมตา สามารถเลือกสิทธิ์ตัวเองได้อย่างที่เขียนเกริ่นไว้เบื้องต้น โดยไม่ยินยอมให้แพทย์เจาะคอให้ออกซิเจนเพื่อต่อชีวิตด้วยการ ทำหนังสือยืนยัน โดยมีการเซ็นชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ยังมีชีวิตเมื่อถึงเวลาหาก แพทย์เห็นหนังสือ ก็ต้องทำตามเจตนาของ ผู้ป่วย จะดึงสายออกซิเจนหรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้ ผู้ป่วย พ้นทุกข์ ไม่ถือว่าเป็นการผิดจรรยาแพทย์แต่อย่างใด
ศักดา รัตนสุบรรณ (ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 425) |