ทำไมสอยคิวไปไม่สุด?

3 มี.ค. 60

เป็น คำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบได้

คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ในช่วงที่ “ไทยทอร์นาโด” ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ดังระเบิดเถิดเทิงในวงการสอยคิวโลก โดยพุ่งขึ้นอันดับ 3 เป็นรองแค่แชมป์ 7 สมัย สตีเฟ่น เฮนดรี้ และแชมป์ 6 สมัย สตีฟ เดวิส ซึ่งคนในวงการสอยคิวเมืองไทยตั้งความหวัง ต๋อง จะทะลุเป็นมือ 1 ของโลกในไม่ช้า

แต่ความหวังของ ชาวไทย ก็สะดุดที่อันดับ 3 โลก ซึ่งหลังจากนั้นอันดับโลกของ ต๋อง รูดมหาราชร่วงหล่นลงทุกวันจนหลุดท็อป 64 อดเล่นสนุกเกอร์อาชีพ แต่เนื่องจาก ต๋อง เป็นผู้จุดประกายให้วงการสอยคิวเอเชียตื่นตัว ได้รับความนิยมทั่วเอเชีย เจสัน เฟอร์กูสัน ประธานสนุกเกอร์โลกจึงให้สิทธิพิเศษ ต๋อง ได้เล่นอาชีพตลอดชีวิต ในฐานะ มือไวลด์การ์ด และอนุญาตให้เล่นจนกว่า ต๋อง จะเลิกไปเอง

หลังจาก ต๋อง เริ่มตกก็มี นักสอยคิว หน้าใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสู่วงการอาชีพนับตั้งแต่ หนู ดาวดึงส์, ต่าย พิจิตร, ตัวเล็ก สำโรง, ขวัญ สระบุรี, บิ๊ก สระบุรี, เบิ้ม เชียงใหม่, แซค โซโฟน จนมาถึงรุ่นหลังอย่าง แจ๊ค เชียงใหม่, อิศ จันท์, แจ๊ค สระบุรี, เอฟ นครนายก, หมู ปากน้ำ จนถึงวัยจ๊าบอย่าง ซันนี่ อาร์แบค, ไฟว์ นครนายก และ นุ้ก สากล โดยยังไม่เห็นใครส่อแววจะไปไกลถึงระดับท็อป 16 โลก

ที่เห็นเข้าท่าก็ เอฟ นครนายก ที่เคยทำอันดับดีสุด 32 โลก โดยก่อนหน้านั้น แจ๊ค สระบุรี โดดเด่นกว่าทุกคนแต่ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น ฟอร์มตก อย่างน่าใจหาย จากอันดับ 40 ขณะนี้ทำท่าจะหลุด 64 โลก นั่นหมายถึงว่า แจ๊ค จะหมดสิทธิ์ได้เล่นอาชีพในฤดูกาลหน้า

มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ นักสอยคิวไทย ไปไม่ถึงฝั่งซึ่งผิดกับ เด็กจีน ที่ทำผลงานสุดยอดหลายต่อหลายคน กลายเป็นมือที่ทั่วโลกต่างหวาดผวาทั้งที่วัยไม่ถึง 20 อาทิ จ้าว ซิน ตง, หยาน บินเตา, ซู ยู หลง, ชาง หยง, ยู เดลู, อันด้า ซาง, เซียว โก๊ะตง, เหมย ซิเวน ยังไม่รวมตัวเก่าอย่าง เทียน เป็ง เฟย, เหลียง เวง โบ และ ติง จุ้น ฮุย ซึ่งกลายเป็นมืออันตรายของโลกในขณะนี้

มีการวิเคราะห์กันกว้างขวางและถึงบทสรุปลงความเห็นว่า นักสอยคิวไทย ขาดเรื่องความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยานในการเล่นอาชีพ ซึ่งหลังเสร็จจากการซ้อมก็พักผ่อนดูทีวี. หรือหาเวลาคุยกับคนทางบ้าน ซึ่งผิดกับ เด็กจีน หลังอคาเดมี่ปิดก็แบกคิวไปหาสถานที่ซ้อมต่ออีกหลายชั่วโมงกว่าจะกลับที่พัก เรียกว่า เด็กจีน มีการฝึกซ้อมอย่างน้อย 12 ชั่วโมงในแต่ละวัน

ส่วนปัญหาใหญ่ของ นักกีฬาไทย ในการไปเล่นอาชีพก็คือขาดผู้สนับสนุน ถึงจะมีแต่ก็สนับสนุนไม่สุดกำลัง แต่ละปีเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นอาชีพไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแต่ได้ เงินอุดหนุน 3-4 แสน ไปแข่งแค่ 2-3 รายการก็หมดเงิน จำต้องกลับมาเล่นในเมืองไทย

ยกตัวอย่างล่าสุดคือ กฤษณัส เลิศสัตยาทร (นุ้ก สากล) ได้สิทธิเล่นอาชีพเพราะคว้าแชมป์เอเชียเมื่อปี 2559 แต่น่าเสียดายที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สมาคมกีฬาบิลเลียดฯ 3 แสนบาท ไปอังกฤษแค่ 2 เที่ยว เงิน 3 แสนก็หมด และไม่สามารถเดินต่อไปได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จึงมีคำถาม ใครล่ะที่รับผิดชอบในการส่งเสริมนักกีฬา ซึ่งผู้ที่จะตอบได้ดีน่าจะเป็น การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันนักกีฬาสมัครเล่นสู่อาชีพ

ผู้ว่าฯ สกล วรรณพงษ์ คงมีคำตอบมาบอกในไม่ช้า

 

ศักดา รัตนสุบรรณ

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 412)